xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ถกหน่วยงานรับฝนตกหนัก-แก้น้ำท่วมเรื้อรัง ใน ถ.แจ้งวัฒนะ-ศรีนครินทร์ ตามแนวสร้างรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถกหน่วยงานเช็กความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก-แก้ปัญหาน้ำท่วมเรื้อรัง ใน ถ.แจ้งวัฒนะ-ศรีนครินทร์ ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า


วันนี้ (5 ก.ค.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ กรมทางหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด และสถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังให้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองส่วยเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะในระยะเร่งด่วน รวมถึงปัญหาระบบท่อระบายน้ำบริเวณถนนสุขุมวิท แนะควรพัฒนาระบบการแจ้งเหตุพื้นที่น้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่สัญจรตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลกระทบในการสัญจรและความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะแก่ประชาชนที่เดินทางในช่วงฤดูฝน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ตามแนวถนนที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง และได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้หน่วยงานทุกภาคส่วนนำไปดำเนินการไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 โดย เน้นย้ำใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองส่วย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ เนื่องจากคลองส่วยซึ่งเป็นคลองที่มีแนวขนานกับคลองประปาเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการระบายน้ำออกจากถนนแจ้งวัฒนะช่วงฝนตกหนัก ยังพบว่ามีสิ่งกีดขวางทางน้ำและยังไม่ได้รับการดูแลและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคลองส่วยอยู่ในความดูแลของการประปานครหลวงซึ่งการประปานครหลวงไม่ได้มีภารกิจหลักในการดูแลเรื่องการระบายน้ำ แต่มีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ

ต่อมาในวันนี้ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 เกี่ยวกับการเตรียมการรับมือต่อสถานการณ์ฝนตกหนักในปี 2567 โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ตามแนวถนนที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีการเดินทางหนาแน่นระหว่างในเมืองและปริมณฑล โดย นายสมศักดิ์กล่าวว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา กรณีการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองส่วย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน มอบหมายให้จังหวัดนนทบุรีเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีมีสายสื่อสารและแนวท่อร้อยสายไฟ (Duct Bank) กีดขวางทางระบายน้ำตามแนวคลองส่วยบริเวณแยกพงษ์เพชร และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการนำสายสื่อสารและแนวท่อร้อยสายไฟที่กีดขวางทางระบายน้ำออกไปโดยเร็วที่สุด สำหรับระยะยาว หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้จังหวัดนนทบุรี ผลักดันการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กรณีการดูแลและบำรุงรักษาคลองของการประปานครหลวง เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลและบำรุงรักษาคลองส่วยได้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการทำบันทึกข้อตกลง ฯ ดังกล่าวแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำแผนของบประมาณเพื่อดำเนินการบำรุงรักษาและนำสิ่งกีดขวางทางน้ำออกไปจากคลองส่วยโดยเร็วเพื่อให้ระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีก 9 ประเด็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ฝนตกหนักในปี 2567 ในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนศรีนครินทร์ ประกอบด้วย 1. การกำหนดจุดเสี่ยงน้ำท่วม ในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะและถนนศรีนครินทร์ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือทันต่อสถานการณ์ฝนตกหนักในปี 2567
2.การพยากรณ์อากาศและการเตือนภัย กรมอุตุนิยมวิทยาในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจ เฝ้าระวัง ติดตาม รายงานสภาวะอากาศ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีขีดความสามารถในการพยากรณ์อากาศและเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมรับมือทันต่อสถานการณ์ฝนตกหนัก

3. การเตรียมระบบระบายน้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรเร่งการเตรียมระดมระบบสูบน้ำติดตั้งในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม และบูรณาการร่วมกับฝ่ายสนับสนุนในการบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมขัง รวมทั้งมีแผนในการติดตั้งระบบสูบน้ำในสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างทันท่วงที 4. ระบบแจ้งเหตุขอรับความช่วยเหลือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีระบบที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุจราจรเพื่อขอรับ ความช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วมที่สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงช่องทางการติดต่อดังกล่าวอย่างทั่วถึง 5. การอำนวยการจราจร สถานีตำรวจในพื้นที่ควรเตรียมความพร้อมในการจัดระบบ และจัดกำลังตำรวจจราจรหรืออาสาจราจรอำนวยการจราจรในช่วงสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วม เพื่อสามารถรับมือและช่วยเหลือด้านการจราจรให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางจราจรได้ในช่วงฝนตกหนักได้ทันท่วงที

6. การแต่งตั้งผู้ประสานงานแต่ละหน่วยงานในการรับมือแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม ในแต่ละหน่วยงานควรมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในช่วงสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วม เพื่ออำนวยความสะดวกและสามารถเป็นศูนย์ประสานงานแก้ไขในจุดพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้อย่างรวดเร็ว 7. การจัดชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการบูรณาการร่วมเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

8. การดูแลบำรุงรักษาคูคลอง หน่วยงานควรดำเนินการสำรวจ ขุดลอกคลองรับน้ำ รวมถึงการกำจัดวัชพืช เพื่อเป็นการเปิดทางน้ำไหล เพิ่มประสิทธิภาพการรองรับน้ำและระบายน้ำในคลองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 9. การคืนพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยควรเร่งคืนพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่เศษสิ่งก่อสร้างอาจกีดขวางการระบายน้ำ หรืออาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุกรณีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมขังผิวถนน


กำลังโหลดความคิดเห็น