“เศรษฐา” ลงภูเก็ต ติดตามการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ลดปัญหาจราจร สั่งศึกษาเส้นทางระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมในอุโมงค์ซ้ำ ด้านชาวบ้านดีใจถึงกับร้องไห้ นายกฯฟังปัญหา หลังกังวลท่วมเหตุเป็นทางน้ำไหลผ่าน
วันนี้ (5 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ จ.ภูเก็ต นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด และปัญหาดินสไลด์ จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลังฝนตกอย่างหนัก เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะ
โดยจุดแรก นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในการขุดอุโมงค์ทางลอด บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร อำเภอถลาง ซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงเวลา 16:00-19:00 น. ทั้งนี้ ก่อนจะเริ่มการก่อสร้างสร้างอุโมงค์ จะมีการทดลองแก้ปัญหาจราจรเพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
ด้าน นายเฉลิมพล เถิดทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร พร้อมด้วย ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้าง กล่าวว่า ชาวบ้านยินดีเรื่องการสร้างอุโมงค์ แต่กังวลเรื่องของฝนตกแล้วน้ำจะท่วมขังภายในอุโมงค์ จึงอยากให้การก่อสร้างคำนึงถึงเรื่องนี้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านเดือดร้อน ทั้งจากปัญหาจราจรและซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วม จึงอยากให้มีการทำคลองระบายน้ำควบคู่ไปด้วย เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน หากมีทางระบายน้ำจะทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างเป็นสุขมาก เพราะทุกครั้งมีฝนตกหนักชาวบ้านก็จะเจอกับปัญหาน้ำท่วมขังทุกครั้ง
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติมถึงการทำบายพาส หรือเส้นทางระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ทำให้ชาวบ้านที่ได้ฟังถึงกับร้องไห้ดีใจที่นายกฯ มารับฟังปัญหาและจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาติดตามสถานการณ์รถติด และน้ำท่วมใน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณโครงการขุดเจาะอุโมงค์ เพื่อแก้ไขสถานการณ์รถติดในจังหวัดแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมอธิบายถึงสภาพปัญหา ว่า ถนนเส้นนี้มีระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร แต่มีสัญญาณไฟจราจร 7 จุด วงเวียน 1 จุด จุดกลับรถ 12 จุด ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ระหว่างรอการก่อสร้างอุโมงค์ จึงมีมาตรการในระยะสั้นในการปิดกั้นบางช่วง เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ตลอดจนขยายทางเลียบเมือง เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของรถ ซึ่งโครงการน่าจะแล้วเสร็จในปี 2569
“นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงปัญหาน้ำท่วมในอุโมงค์ เพราะเป็นทางผ่านของน้ำ จึงให้ทางจังหวัดเตรียมแผนรองรับ เช่น ปั๊มน้ำ และช่องทางระบายน้ำ ที่ไม่กระทบต่อชุมชนโดยรอบ เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับผลกระทบถึง 200 หลังคาเรือน ผมเชื่อว่า ปัญหาการจราจรในตัวเมืองภูเก็ต และน้ำท่วม น่าจะคลี่คลายลงไปได้มากจากมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาว” นายกรัฐมนตรี กล่าว