xs
xsm
sm
md
lg

"มาริษ" พบตัวแทนพิเศษ รมว.กต.ฝรั่งเศส หารือเพิ่มพูนความร่วมมือสองชาติ หนุนเอชนแดนน้ำกหอมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานสะอาดในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.กต.พบผู้แทนพิเศษของ รมว.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ หารือเพิ่มพูนความร่วมมือไทย - ฝรั่งเศส ยินดีภาคเอกชนฝรั่งเศสสนใจลงทุนในไทย โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานสะอาด ย้ำความพร้อมในการจัดงาน Business Forum ที่ไทยในปีนี้

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2567) เวลา 09.20 น. ณ ห้องโดมทอง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับ นายฟรองซัวส์ กอร์แบง (Mr. François Corbin) ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน และรองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ เพื่อหารือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความคืบหน้าของผลการเยือนฝรั่งเศส โดยภายหลังเสร็จสิ้น นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต้อนรับผู้แทนพิเศษของ รมว. กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฯ และยินดีต่อการจัดงาน France - Thailand Business Forum ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี โดยไทยพร้อมต่อยอดความสำเร็จและเป็นเจ้าภาพจัดงาน Business Forum ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ในปีนี้ เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนสำคัญสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและฝรั่งเศสให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ผู้แทนพิเศษของ รมว. กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฯ ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ใกล้ชิดกัน โดยการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและฝรั่งเศสถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกันที่แข็งแกร่งยาวนาน โดยผู้แทนพิเศษของ รมว. กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฯ ยืนยันพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในระยะยาว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และพร้อมสนับสนุนไทยในการจัดงาน Business Forum ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ในปีนี้


โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้

ด้านพลังงานสะอาด ไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) กับฝรั่งเศส และพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยผู้แทนพิเศษของ รมว. กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฯ กล่าวว่า ฝรั่งเศสมีการดำเนินงานด้านพลังงานที่ใกล้ชิดกับไทย โดยเฉพาะกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานฝรั่งเศส (Electricité de France: EDF) ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการแบ่งปันความรู้ในด้านเทคโนโลยีกริดอัจฉริยะ โดยฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับไทยมากขึ้นต่อไป


ด้านกลาโหมและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและฝรั่งเศสมีความร่วมมือด้านกลาโหมที่ใกล้ชิด โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่กรุงปารีส ซึ่งมีส่วนสร้างพลวัตในความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยอาทิตย์หน้า ระหว่างวันที่ 8 - 9 กรกฎาคม 2567 จะมีการจัดงานสัมนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ประเทศไทย โดยมีภาคเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศสให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เชื่อมั่นว่าจะสนับสนุนความร่วมมือในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกันมากขึ้น


ด้านโครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานและการคมนาคมขนส่ง ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับโครงการสำคัญที่ภาคเอกชนฝรั่งเศสให้ความสนใจ เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (EEC Airport Rail Link) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันหาแนวทางเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในภาพกว้าง พร้อมย้ำถึงศักยภาพของไทย ซึ่งฝรั่งเศสสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย ตลอดจนความเป็นกลางของไทย ที่ทำให้ไทยสามารถมีความร่วมมือได้กับทุกประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคมากมาย เช่น ASEAN และ BIMSTEC รวมถึงนายกรัฐมนตรียังมีวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาค ซึ่งฝรั่งเศสสามารถใช้ไทยเป็นประตูเชื่อมโยงกับภูมิภาคสำคัญต่าง ๆ ได้






กำลังโหลดความคิดเห็น