รมช.เกษตรฯ ตอบกระทู้ ยัน กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้ประมงพื้นบ้าน เตรียมดันมาตรการสนับสนุนน้ำมันผ่านการเติมเงิน ย้ำ พร้อมต่อสู้เพื่อ ปชช.เต็มที่
วันนี้ (4 ก.ค.) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มาตอบกระทู้ของ นายกฤช ศิลปชัย ส.ส.ระยอง พรรคก้าวไกล ที่สอบถามความคืบหน้าข้อเสนอนโยบายประมงทะเล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านไทย ว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ฝากมาขอโทษที่ท่านไม่ได้มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง เนื่องจากติดภารกิจ แต่ท่านเล็งเห็นถึงความตั้งใจและให้ความสำคัญในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมง โดยเฉพาะพี่น้องประมงพื้นบ้าน และได้กำชับให้มาตอบกระทู้ของท่าน ส.ส.
ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มีความห่วงใยให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และท่านก็มีความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่ประมงพื้นบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพของชาวประมงขณะนี้มีต้นทุนมากกว่า 50% โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาประมงทะเล และได้ทำการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อที่จะพิจารณาข้อเสนอตามนโยบายการประมงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประมงพื้นบ้าน ซึ่งทางกรมประมงได้เสนอช่วยเหลือค่าน้ำมันสำหรับพี่น้องที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านจำนวน 1,275 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ยังมีข้อกังวลในการสนับสนุนค่าน้ำมันสำหรับการดำเนินโครงการนี้ ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 45,000 ราย ใช้งบประมาณประมาณ 350 ล้านบาท จะมั่นใจได้อย่างไรว่า การใช้งบประมาณจะเกิดความยั่งยืน ขณะเดียวกัน พี่น้องชาวประมงที่รับเงินอุดหนุนแล้วจะนำไปซื้อน้ำมันจริง หากไม่ได้นำเงินไปซื้อน้ำมันตามวัตถุประสงค์ของการอนุมัติโครงการนี้ ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า ควรจะให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริง ดังนั้น ทางกรมประมง จึงผลักดันแนวทางในการที่จะสนับสนุนน้ำมันผ่านทางการเติมเงิน ผ่านสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือ เราจะสามารถมั่นใจได้ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่อุดหนุนช่วยเหลือพี่น้องประมงพื้นบ้าน จะถูกนำไปซื้อน้ำมันตรงตามวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น
“ในเรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส ท่านมีความกังวล และห่วงใย เนื่องจากที่ผ่านมา ภาครัฐเรามีการช่วยเหลือน้ำมันเขียว หรือว่าน้ำมันต่างๆ ที่มีราราคาถูกกว่า โดยเฉพาะให้กับผู้ประกอบการประมงที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ความช่วยเหลือดังกล่าว ถ้าเทียบกับพี่น้องประมงพื้นบ้านแล้วความช่วยเหลือต่างๆ มีความเหลื่อมล้ำพอสมควร ดังนั้น แนวทางการทำงานของกรมประมง จะเปิดโอกาสให้พี่น้องประมงพื้นบ้านได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง โดยกรมประมงจะนำประเด็นนี้ไปหารือกับคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซล สำหรับชาวประมงพื้นบ้านในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร โดยมีตัวแทนจากกรมประมงเข้าไปเป็นในคณะทำงานนี้ด้วย
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ จะนำไปหารือสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไปรับฟังความเห็น ถ้ามีความคิดเห็นที่ตรงกัน ก็สามารถเดินหน้าต่อได้เต็มที่ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ทำประมงพื้นบ้านด้วย รวมทั้งกระทรวงได้ตั้งงบประมาณที่จะสนับสนุนการทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดประสงค์เพื่อจะอุดหนุนไปยังองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมประมง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มการผลิตด้านประมง ซึ่งโครงการต่างๆ องค์กรชุมชน จะได้รับอุดหนุนไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ส่วนปี 2568 จะได้รับจัดสรรงบประมาณมาประมาณ 200 กองทุน ดังนั้นองค์กรชุมชนท้องถิ่นจะสามารถนำงบประมาณตรงนี้ไปใช้ในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับสัตว์น้ำ เรื่องของธนาคารสัตว์น้ำ การพัฒนาอาชีพทางด้านการประมง หรือการเปลี่ยนและซ่อมแซมเครื่องมือประมงได้
“ในส่วนความห่วงใยของเพื่อนสมาชิกในส่วนของกองทุนประกันภัยแก่ประมงพื้นบ้าน เพื่อช่วยเหลือในกรณีอุบัติเหตุหรือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต้องยอมรับว่า เงื่อนไขในกรมธรรม์อาจจะยังไม่เป็นที่พอใจสำหรับพี่น้องที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านมากนัก เพราะว่ามีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การชดเชยความสูญเสียจากธรรมชาติหรือว่าภัยพิบัติ จะต้องดูในเรื่องของระเบียบทางราชการ ซึ่งต้องเป็นการประกาศภัยพิบัติระดับจังหวัดเท่านั้น ถ้าเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเฉพาะพื้นที่ ผมเชื่อว่า ทางจังหวัดก็ไม่สามารถประกาศเป็นภัยพิบัติได้ ทำให้ไม่สามารถรับค่าสินไหมทดแทนได้ แต่ขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องนี้ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้สามารถครอบคลุม หรือว่าดูแลเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น“
นายอรรถกร กล่าวต่อด้วยว่า กรมประมงกำลังทำร่างใหม่ เพื่อเสนอไปที่กรมบัญชีกลาง เช่น ชดเชยเวลาเกิดความเสียหาย ก็ชดเชยตามความยาวของเรือ แต่ที่เรากำลังจะนำเสนอเป็นการชดเชยตามปริมาตรความจุของเรือ หรือแม้แต่เรื่องของอัตราการช่วยเหลือในกรณีที่เสียหาย จะจ่ายไม่เกิน 20,000 บาท แต่เราจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 การช่วยเหลือเยียวยาประมาณ 10,000 แล้วก็ปรับขึ้นเป็น 15,000 บาท หรือแม้แต่ในกรณีที่เรือจมนะที่สามารถจ่ายได้ไม่เกิน 66,000 บาท แต่ร่างใหม่สามารถเพิ่มขึ้นมาเป็นจ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดระยองนั้น กรมประมงมีนโยบายในการที่จะดำเนินการช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านมาตลอด โดยมีกิจกรรมต่างๆที่ช่วยเหลือดำเนินการในพื้นที่ที่จะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนแล้วก็พัฒนาให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมธนาคารปูม้า สนับสนุนการจัดหาเครื่องมือประมง สนับสนุนอุปกรณ์ซ่อมเรือ หรือแม้แต่กิจกรรมในการผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เราจะต้องลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการหาทางออก ที่ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ โดยไม่ผิดกฎหมาย
“ร.อ.ธรรมนัส ให้ความสำคัญและลงไปประชุมกับพี่น้องชาวประมงพาณิชย์ที่ต้องการที่จะขายเรืออยู่เรื่อยๆ ตอนนี้ผมเชื่อว่า อยู่ในกระบวนการในการที่จะหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ก็คงจะใช้เวลาสักนิดนึง แต่ผมเรียนด้วยความเคารพว่า พวกผมก็ต้องต่อสู้ในฐานะเป็นนักการเมือง ร.อ.ธรรมนัส ก็เป็นนักการเมือง เราก็ต่อสู้เพื่อที่ประชาชนจะได้รับสิ่งที่เขาสามารถได้รับกลับมาให้เหมาะสม ท่านไม่ต้องกังวลใจ เราในฐานะกระทรวงเกษตรฯ เราจะทำตรงนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและรอบคอบที่สุด” นายอรรถกร กล่าว