อดีต กมธ.ยกร่าง รธน.60 ไม่สนสายไหนเข้าสู่ ส.ว.แต่ถ้าฮั้ว-โกงมา เลือกต้องโมฆะ จี้หยุดด้อยค่า ส.ว.ป.4 ชี้ ทำงานเลิศกว่าดอกเตอร์มีถมไป
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่ โรงแรมอัศวิน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า เห็นว่า ต้องแยกออกเป็น 3 เรื่อง 1. บทบัญญัติของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 2561 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ไม่มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2. การทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งระบบการเลือกกันเองเช่นนี้ เหมือนกับการเล่นกีฬา โดยกรรมการจะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เช่น ต้องไม่ปล่อยให้มีการนำโพยเข้าไป อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และต้องจับตาดูตลอดเวลา หากมีอะไรบิดพลิ้ว หรือควรสงสัย จะต้องตัดออกไป โดยให้คนที่ถูกตัดไปร้องศาลเอาเอง ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้กลับมาหรือไม่ และ 3. คนไม่ดี กรณีคนไม่ดีนั้นพูดยาก ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ปัญหาคนไม่ดี มีการฮั้วกัน มีการซื้อมีการโกง ต่อให้ระบบดีอย่างไรก็ไม่พ้นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น วิธีการแก้คือ ประชาชนที่รู้ที่เห็นก็ต้องช่วยกัน
“แม้จะไม่มีระบบใดคัดกรองคนไม่ดีออกไปได้หมด แต่วันนี้เมื่อได้สว.มา 200 คน และสำรองอีก 100 คน ซึ่งไม่รู้ว่า กกต.จะคัดใครออกบ้าง เมื่อได้คนมาทำหน้าที่ เราก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ สอดส่อง ใครทำหน้าที่ไม่ดี ใครทำหน้าที่บิดเบี้ยว หรือเข้าข้างใคร ใครเป็นพวกใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการเชื่อมโยงพรรคการเมือง หรือไปเป็นฝ่ายผู้มีอิทธิพล ทำให้เห็นเด่นชัดว่าการทำหน้าที่ไม่ได้อาศัยผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แต่อาศัยผลประโยชน์ของพวกพ้องของตนเองก็ต้องจัดการ"
ดร เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า ระบบนี้ก็มีข้อขัดข้องอยู่ และเห็นว่า วิธีการแก้ที่ง่ายที่สุด คือ การเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่มีการถอนระยะเวลาห่างกันถึง 10 วัน จะต้องเลือกสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่มีขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งสถานที่ จะได้เกิดการวิ่งเต้นได้น้อย ต้องห้ามนำโพย มือถือเข้าไปในสถานที่เลือก ไม่ว่าในตอนแรกผู้สมัครจะคุยกับใครก็แล้วแต่ แต่เมื่อผ่านระดับอำเภอเข้าสู่รอบไขว้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีใครผ่านเข้าไปได้บ้าง คนข้างนอกก็ไม่รู้ เพราะไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร หากมีคนข้างนอกรู้จะต้องตามจับ เพราะจะต้องมีใครสักคน ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่และต้องจับเจ้าหน้าที่คนนั้นให้ได้ หากทำเช่นนี้ได้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ และวิธีการที่จะคัดสรรคน 20 กลุ่มอาจจะน้อยไป ซึ่งสภาพความจริงก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว อาจจะมีสัก 30-40 กลุ่ม ให้ปรับแต่งกันไป
“อย่าคิดสั้นๆ เพียงแค่ว่า ระบบนี้ไม่ดี เปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งแบบหย่อนบัตร ไหนๆ มีการสร้างระบบมาแล้ว ก็ค่อยๆ ปรับแต่งไป อย่าทำแบบระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่พอมีปัญหาในระบบก็เปลี่ยนเลย แต่กลับไม่ได้ดีอะไรขึ้นมา”
ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า เท่าที่ตนได้รับฟังมา มีการคำนวณเป็นตัวเงิน ชั้นต้นจ่ายไปก่อนคนละ 5,000 บาท ไม่ทราบว่าใครเป็นคนจ่าย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นได้กันคนละ 2,500 บาท เพราะเป็นค่าสมัครอีก 2,500 บาท ส่วนรอบไขว้ ก็ให้พกเงินไป คนที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวเต็ง ก็พกเงินไปแล้วไปจ่ายในชั้นไขว้ จากนั้นเมื่อเข้าสู่ระดับจังหวัด จ่าย 10,000 บาท ในชั้นแรก ส่วนชั้นไขว้จ่าย 50,000 บาท และเมื่อเข้าสู่ระดับประเทศ การเลือกในกลุ่มเดียวกันจ่าย 100,000 บาท ส่วนรอบสองค่อยจ่าย 500,000 บาท ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ หากเป็นเช่นนี้จริง ถือว่าเป็นข้อด้อย เพราะการเมืองยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ประชาชนยังตามดูไม่ได้ โดยเฉพาะประชาชนที่เข้าไปสมัคร
“อย่าลืมว่าเราจะติติงว่ากล่าวใครก็ได้ แต่คนที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด คือ คนที่เข้าสู่กระบวนการรับสมัคร แล้วรับเงิน 2,500 บาท รับเงินหมื่น ถึงแสนบาท คนเหล่านี้แหละ อย่าไปว่ากระบวนการ พวกท่านทุกคน ที่เข้าสู่กระบวนการเลือก ส.ว.จะ 3-4 หมื่นคนก็แล้วแต่ ทุกท่านที่รับเงิน ทุกท่านที่โกงทุกท่านที่เป็นพรรคพวกกัน และทุกท่านที่ฮั้วกัน ท่านเป็นคนทำให้ระบบแย่หมดเลย เหล่านี้แหละที่ผมพูดว่าท่านเป็นคนไม่ดี”
สำหรับปัญหาที่ 2 คือ เรื่องของระบบ คือ เรื่องทอนการเลือกเป็น 10 วัน เพราะยิ่งมีเวลาเยอะ ยิ่งทำให้วิ่งเต้นได้มาก ดังนั้น หากใครจะแก้ระบบต่อไปก็ขอให้เลือกวันเดียวจบ เพราะหาคนไปจัดการยาก หาคนแทรกแซงได้เยอะ สุดท้ายตนคิดว่าเป็นเรื่องของอำนาจ ส.ว. ซึ่งการตรวจสอบอาจจะมีน้อย เวลาจะไปเลือกกรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเลือกใครเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ไม่มีคำอธิบาย และไม่มีการคัดค้าน ทั้งที่ควรเชิญมาและสอบถาม แล้วออกเป็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เหตุผลที่เลือก หากเลือกแล้วไม่เหมาะหรือค้านสายตา ประชาชนก็จะมาถล่มท่าน หากเลือกแล้วมีความเหมาะสม แม้จะเป็นพวกใครหรือรู้จักใคร ก็ไม่ค้านสายตา ดังนั้น เมื่อไปฝากความหวังไว้กับ ส.ว. ที่มาจากทางทหารก็ไม่ได้ หรือมาจากทางประชาชนก็ไม่ได้อีก กลายเป็นว่ากระบวนการ ที่ผ่านระบบและคนที่ผสานกัน แล้วก่อให้เกิดช่องว่าง กลายเป็นการทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา
เมื่อถามว่า รายชื่อว่าที่ ส.ว.ที่ออกมา 200 คน บางคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือบางคนมองถูกมองว่าอาจจะกระทบกับคุณภาพสภาสูง ควรเป็นโมฆะหรือไม่ ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ถ้าจะเป็นโมฆะ ก็ควรจะโมฆะเพราะว่า คนที่เข้ามา 200-300 คน ส่วนใหญ่แล้วโกง ฮั้ว ส่วนใหญ่เข้ามาโดยไม่ชอบ ลักษณะอย่างนี้ควรให้กระบวนการเป็นโมฆะ ไปเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณสมบัติเรื่องของความรู้ อาจจะไม่ได้ ประสบการณ์อาจจะยังไม่เหมาะ แต่ถ้าไม่ได้โกง ไม่ได้ฮั้วกันมา อย่าไปตัดรอนด้วยเหตุเพียงเท่านั้น รอการทำงานก่อน
“อย่าไปคิดว่า ป.4 ทำอะไรได้น้อยกว่าปริญญาเอก ปริญญาเอกทำอะไรไม่ได้เรื่องได้ราวเยอะแยะ ป.4 ทำอะไรดีงามมากมาย คนที่ไม่เคยเล่าเรียน แต่ทำงานแล้วสามารถเข้าใจ เรียนรู้งานได้รวดเร็วก็มีมาก แต่สิ่งที่อาจจะจำเป็น คือ วงงานสภา จะทำอย่างไรก็ต้องให้ความรู้แก่คนเหล่านี้ การประสานการทำงานแต่ละฝ่าย เช่น นิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร จะทำอย่างไร แล้วท้ายที่สุด คือ ความรู้ที่จะต้องมีประจำของคนที่ทำงานการเมือง พอไม่ได้อยู่ในแวดวง อาจจะมีขาดตกบกพร่อง ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อเสริมให้ ส.ว.เหล่านั้นทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม”
ส่วนที่มีการมองว่า ส.ว.สายสีน้ำเงิน เข้ามาจำนวนมาก ดร.เจษฎ์ หัวเราะ พร้อมกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่า สายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายส้ม แต่ถ้าไม่ได้ฮั้ว ไม่ได้โกง จะสายไหนก็เข้ามาเถอะ แต่ถ้าฮั้ว หรือโกง ไม่ว่าจะสายไหน ก็ถือว่าไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าอยากให้บ้านเมืองดี ก็ช่วยกันทำให้การเมืองดี ถ้าอยากให้บ้านเมืองเลว ก็ทำให้การเมืองเลว เพราะการเมืองเลว ทุกอย่างเลวหมด.