คณะทำงานนายกฯ ชี้ เปิด Direct PPA ให้เอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรง เชื่อ ปลดล็อกโครงสร้าง ดึงดูดลงทุน-ลดค่าไฟ-ลดการผูกขาด
นายศุภกร คงสมจิตต์ คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้เร่งผลักดันให้เอกชน สามารถซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง หรือ Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA กว่า 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเยอะมาก สามารถสร้าง Hyperscale Data Center ได้ถึง 10-20 แห่ง ในขณะที่มาเลเซียที่เปิดแค่ 800 MW นั้นจะสร้างได้เพียง 4-8 แห่งเท่านั้น จึงมั่นใจว่าจะรับนักลงทุนได้หลายหมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมา การไปพบนักลงทุนหลายเจ้าที่ต้องการไฟสะอาด ต่างอยากจะเป็นคนเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอง เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทเขาสามารถเป็น 100% Green ได้ จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนให้เกิด Direct PPA ซึ่งการแข่งขันด้านพลังงานในภูมิภาค จะยิ่งดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ แต่ข้อดีของประเทศไทย คือ เรามีสายส่งที่เพียบพร้อม หากเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ที่ระบบส่งไฟฟ้ายังช้ากว่าไทย 5-10 ปี หรือมีภูมิภาคเป็นเกาะ ซึ่งยากต่อการเชื่อมต่อ
ทั้งนี้ นายศุภกร ยังได้กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่า การแข่งขันกันดึงดูดธุรกิจในภูมิภาคจะดุเดือดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสีเขียว ระบบขนส่ง Logistics ทั้งถนน ราง เรือ การเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลายๆ อย่าง ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศชั้นนำ ไปที่ไหนก็มีอินเทอร์เน็ต มีสายไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ไทยก็จะต้องไม่อยู่เฉย การแข่งขันจะกดดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศออกนโยบายอีกหลายประการเพื่อขับเคลื่อนให้ทันความดุเดือดนี้
นายศุภกร ยังเห็นว่า Direct PPA จะเป็นการเปิดให้คนทั่วไป หรือเอกชน สามารถใช้สายไฟฟ้าของรัฐส่งไฟที่ผลิตได้ ไปยังลูกค้าด้วยราคาที่ตกลงกัน บริษัทอย่าง Microsoft, Google, AWS, Tencent หรือบริษัทที่ต้องการไฟฟ้าสะอาด 100% ก็จะมาลงทุนทั้งสร้างโรงงาน และสร้างโรงไฟฟ้าสะอาดในไทยมากขึ้น ทำให้ไทยได้เศรษฐกิจที่ดีขึ้น และลดคาร์บอนไปคราวเดียวพร้อมๆ กัน และเมื่อมีการแข่งขันของภาคเอกชน ก็จะไม่มีการผูกขาดอีกต่อไป ค่าไฟก็จะดีขึ้นในระยะถัดไป ในส่วนของสัญญาการผลิตไฟเดิมที่ประเทศได้ทำไว้ รัฐบาล ก็จะต้องปฏิบัติตามทุกฉบับ เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะรัฐบาลไม่รักษาสัญญา ซึ่งจะกระทบเรื่องของความเชื่อมั่น (Trust) ในระยะยาว ซึ่งรัฐควรมุ่งเพิ่มการแข่งขัน แต่จะต้องไม่ลดความมั่นคง เพื่อให้ราคาพลังงานมีความเหมาะสมในระยะยาว
ทั้งนี้ มติบอร์ด กพช. ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่ในการทำรายละเอียด ทางกระทรวงพลังงานและ กพช. ยังต้องไปทำการบ้าน ราคา ให้เหมาะสมด้วย เพื่อไม่ให้เป็น มาตรการกระดาษที่ไม่มีใครใช้ เพราะราคาและมาตรฐานไม่เหมาะสม