xs
xsm
sm
md
lg

หมอฟันห่วงสุขภาพช่องปากคนสูงวัย แนะยึดนโบายฟันดี 80/20 ดูแลแบบองค์รวมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ห่วงกลุ่มสูงวัย80-85ปี หลังพบแค่ร้อยละ27.7เท่านั้นที่มีฟันถาวรใช้งาน 20 ซี่ แถมผู้สูงอายุตอนต้น เจอสารพัดปัญหาช่องปากทั้งเหงือกอักเสบ -โรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ด้านหมอฟัน มธ. โชว์ความสำเร็จนโยบาย 80/20 ของญี่ปุ่น สู่นโยบายดูแลสุขภาพช่องปากแบบใหม่ ย้ำไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ จึงไม่เพียงเผชิญโรคในช่องปากเท่านั้น แต่รวมถึงการทำงานของอวัยวะช่องปากที่เสื่อมลงตามวัย มาคู่กับปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่

วันนี้(19มิ.ย.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิทันตสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และโครงการการพัฒนาเครือข่ายสังคมเพื่อการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ฟันดี 8020 จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปผลการดำเนินงาน ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตริช คอนเวนชั่น นนทบุรี โดยทพญ.วรางคนา เวชวิธี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ ฟันดี 8020 กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุว่า นับจากปี 2566 เป็นต้นไปประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่สูงอายุจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ผู้สูงอายุ 60 ปีวันนี้ จะมีชีวิตอยู่เฉลี่ยอีก 20 ปี ฉะนั้น ผู้สูงอายุหากอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีและกินดี อายุ 80 ปี จำเป็นต้องมีฟันถาวรใช้งานได้เฉลี่ย 20 ซี่ ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายสังคมเพื่อการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ฟันดี 8020 พื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน แพร่ สิงห์บุรี นครปฐม บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 25 จุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่5 ห้วยขวาง กทม.) ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโดยรวม

“บางจังหวัด เช่น แพร่ จำนวนผู้สูงอายุทะลุ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) การทำงานระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี โครงการฯ ได้เข้าไปหนุนเสริมพลังชุมชนช่วยทำงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่”

ทพญ.วรางคนา กล่าวด้วยว่า ปัญหาสุขภาพช่องปาก ลดการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุนั้น หากรอให้มีปัญหาแล้วไปรับบริการจะไม่ทันกาล ดังนั้นการป้องกันถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ขณะที่เจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขมีจำนวนไม่เพียงพอ เพราะต้องปฏิบัติงานด้านการรักษาเป็นหลัก ไม่สามารถลงไปให้ความรู้เชิงป้องกันได้ ทางโครงการฯ ฟันดี 8020 จึงเข้าไปพัฒนาเครือข่ายทั้ง อสม. แกนนำในชุมชน ผู้นำศาสนา ใน 10 พื้นที่นำร่อง เข้าไปสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคในช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเอง ครอบครัว และคนในชุมชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้ารับบริการทางด้านทันตกรรม

ขณะที่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9 ) กล่าวว่า สถิติผู้สูงอายุ ปี 2565 อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน แต่กลับพบว่า ผู้สูงอายุได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากน้อยมาก ในปี66 เพียงร้อยละ 5.78 สสส.เป็นอีกหน่วยงานที่เข้าไปการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ อย่างโครงการฯ ฟันดี 8020 จะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน การดูแลสุขภาพช่องปาก สุดท้ายจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุ 80 ปี มีฟันดีอย่างน้อย 20 ซี่ รวมถึงเห็นภาพการทำงานต้องเชื่อมโยง ประสานกับหน่วยงานไหนบ้าง

ด้าน ดร.ทพญ.สิริมา กุลวานิช คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสภาวะสุขภาพช่องปากกับภาวะเปราะบางของผู้สูงอายุว่า แนวคิด Oral Frailty หรือภาวะช่องปากอ่อนแอ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2013 Japan Society Of Gerodontology นำเสนอแนวคิดเรื่องการป้องกันภาวะเปราะบาง โดยอธิบายความเกี่ยวข้องกับสภาวะอ่อนแอในช่องปาก นำสู่ภาวะเปราะบางของร่างกาย ผ่านกลไกการเกิดทุพพลภาพ และภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อในผู้สูงวัย

“ แนวคิด Oral Frailty เป็นแนวคิดใหม่ที่ก้าวข้ามกรอบแนวคิดการดูแลสุขภาพช่องปากแบบเดิมที่นอกจากควบคุมโรคในช่องปากแล้วยังเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลโครงสร้างอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับช่องปากให้สามารถใช้งานได้ดี และปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการอธิบายความสัมพันธ์ภาวะทุพโภชนาการจากการกินไม่ได้ การอักเสบติดเชื้อในช่องปาก ส่งผลต่อการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งความสำเร็จของนโยบาย 80/20 ของญี่ปุ่น ทำให้เกิดนโยบายดูแลสุขภาพช่องปากแบบใหม่ที่มีความเป็นองค์รวมมากขึ้น ซึ่งไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ และไม่ได้มีเพียงโรคที่ปรากฎในช่องปากเท่านั้น แต่จะรวมถึงเรื่องของการทำงานของอวัยวะช่องปากที่เสื่อมลงตามวัยควบคู่กับปัญหาด้านสุขภาพโดยรวมที่ย่ำแย่ลงด้วย ดังนั้นทิศทางการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุของไทย จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น"

ทั้งนี้ โครงการฯ ฟันดี8020 สอดรับกับผลรายงานผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 9 ประเทศไทย พ.ศ.2566 ของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ฉบับล่าสุด โดยความน่าสนใจของผลการสำรวจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-74 ปี และ 80-85 ปี พบว่า สถานการณ์การมีฟันถาวรใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-74 ปีมีฟันถาวรเฉลี่ย 19.6 ซี่ต่อคน ร้อยละ 60.9 มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ ร้อยละ 43.7 มีฟันหลังสบกันอย่างน้อย 4 คู่สบ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุตอนปลาย 80-85 ปี มีฟันถาวรเฉลี่ย 11.7 ซี่ต่อคน ร้อยละ 27.7 มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ และร้อยละ 15.7 มีฟันหลังสบกันอย่างน้อย 4 คู่สบ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูงอายุตอนต้นส่วนหนึ่งยังคงมีปัญหาในช่องปากที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยร้อยละ 74.3 มีสภาวะเหงือกอักเสบ ร้อยละ 48.7 เป็นโรคปริทันต์อักเสบ และร้อยละ 18.7 เป็นโรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรง ร้อยละ 60 มีฟันผุบริเวณตัวฟันที่ยังไม่ได้รักษา เฉลี่ย 2.1 ซี่ต่อคน ร้อยละ 35.5 มีรากฟันผุที่สัมพันธ์กับเหงือกร่นเฉลี่ย 0.9 ซี่ต่อคน ร้อยละ 3.7 มีภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทันเวลา จะมีโอกาสลุกลามนำไปสู่ความเจ็บปวดและสูญเสียฟันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น