xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จับมือกทม.ผุดโครงการ 80/20 เสริมสุขภาพช่องปากคนวัยเก๋า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ผนึกกำลังกทม.มอบของขวัญวันผู้สูงอายุปี67ผุดโครงการ 80/20 เพื่อชีวิตดีผู้สูงวัย ตั้งเป้าปี80 50%ของคนวัย80 ปีต้องมีฟันเหลือ20ซี่ขึ้นไป
หลังพบตัวเลขน่าห่วงอายุ 60 ปีเหลือฟันแค่18ซี่ ชี้กระทบการเคี้ยวกลืนอาหาร-การเข้าสังคม

วันนี้(11เม.ย.) กรุงเทพมหานครได้จัดงานเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุกรุงเทพมหานครโดยจัดเสวนาประสาคนสูงวัย "หยุดสูงวัยไว้แค่ 60 “ ด้วยการรักษาสุขภาพในช่องปากในประเด็น"80/20 รหัสลับ ชีวิตดี ยามสูงวัย" เพื่อเตรียมฟันดีก่อน60ปี ได้คุณภาพชีวิตที่ดี โดยนางกรกมล นิยมศิลป์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รักษาการผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วในปี 2563 ขณะที่การสำรวจปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุพบว่าร้อยละ 51.07 หรือ กว่าครึ่งของผู้สูงอายุมีโรคฟันผุและร้อยละ 12.2 ของผู้สูงอายุมีโรคปริทันต์ระดับรุนแรง

" เรื่องน่าเป็นห่วงคือปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบกับการเคี้ยวอาหาร การกลืน การพูด และการเข้าสังคม ดังนั้นการรักษาสุขภาพในช่องปากทำให้ผู้สูงอายุไม่เจ็บปวด ไม่มีกลิ่นปาก กินอาหารได้ตามปกติ ลดความรุนแรงของโรคเบาหวาน และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะปัญหาปอดติดเชื้อจากการสำลัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้”

ทั้งนี้สาเหตุของปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งมาจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุสูบบุหรี่ เฉลี่ย10 มวนต่อวัน ต่อเนื่องนานมากกว่า 35 ปี และยังพบว่าพฤติกรรมการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ใช้ยาสีฟันไม่มีส่วนผสมฟูลออไรด์ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามีผู้สูงอายุร้อยละ61ไม่เคยเข้ารับบริการทันตกรรม มีเพียงร้อยละ 39 เคยเข้ารับบริการทันตกรรม เฉลี่ยประมาณคนละ 2 ครั้งต่อปี

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของประเทศไทยครั้งล่าสุดปี2560 ว่าเมื่อเข้าวัยสูงอายุคือ 60 ปีจะเหลือฟันเพียง 18 ซี่ และ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น จนเมื่ออายุ 80 ปีเหลือฟันเพียง 10 ซี่ ดังนั้นเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุไทยเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยตั้งเป้าไว้ ร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุมีฟันแท้ 20 ซี่ หรือ 4 คู่สบฟันหลัง

“ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีเพียงร้อยละ50 เท่านั้น ที่มีฟันเหลือ 20 ซี่ ฉะนั้น เราจะรณรงค์การรักษาฟันแท้ให้ได้ 20 ซี่ไปจนถึงอายุ 80 ปี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และถือเป็นรหัสลับ 80 /20 ที่เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ โดยพื้นที่เป้าหมายในการณรงค์สร้างสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ แพร่, ลำพูน, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, นครปฐม, สิงห์บุรี, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี และ กรุงเทพมหานคร

ด้าน ทพ. เธียรชัย วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงข้อมูลสุขภาพในช่องปากของวัยทำงานในกทม. มีฟันใช้งาน 20 ซี่ หรือมีฟันหลังใช้เคี้ยวอย่างน้อย 4 คู่สบ ร้อยละ 85 แต่ลดลงเหลือร้อยละ 57 ในวัยผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบมากในผู้สูงอายุกทม. ทั้งปัญหาการบดเคี้ยวเนื่องจากสูญเสียฟัน ปัญหาฟันผุ ฟันสึก รากฟันผุ และปัญหาโรคปริทันต์อักเสบ ปัญหาอื่น ๆ ซึ่งนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงทำงานร่วมกับเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุสร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ ในชมรมผู้สูงอายุในกทม. 410 แห่ง และชมรมในความดูแลของสำนักอนามัย 259แห่ง เพื่ออบรมแกนนำชมรมผู้สูงอายุในส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เช่นการตรวจคัดกรอง การสอนและฝึกทักษะการดูแลสุขภาพช่องปากแก่สมาชิกชมรม การจัดกิจกรรมแปรงฟันในชมรมผู้สูงอายุ การให้บริการทาฟูลออไรด์วานิช

ส่วนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการสูญเสียฟัน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน วัยผู้สูงอายุ คือ 1.การดูแลทำความสะอาดช่องปาก อย่างเหมาะสม แปรงฟันสูตร 222 คือแปรงวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1,500 ppm ไม่ต้องบ้วนน้ำตาม แปรงนานอย่างน้อย 2 นาที ไม่ทานอาหาร 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟัน 2. รับประทานอาหารที่เหมาะสม เลี่ยงอาหารหวาน เหนียว แข็ง 3.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การใช้ฟันผิดวิธี การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เคี้ยวหมาก 4. หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากของตนเองเป็นประจำ และหมั่นบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ลิ้น และนวดกระตุ้นต่อมน้ำลาย5. รับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก ปีละ 1- 2 ครั้ง

ขณะที่ ทพ.พูลพฤกษ์ โสภารัตน์ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า แนวคิด 80 /20 มาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบของการมีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่งคาดหวังอยากให้ผู้สูงอายุรักษาช่องปากให้ดี ควรต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กวัยทำงาน จนถึงสูงวัย โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2580 ผู้สูงวัยอายุ 80 ปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะมีฟันในช่องปาก20 ซี่ได้ จึงหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดกระแสในภาพใหญ่ให้คนไทยรู้จัก 80/20 คืออะไรก่อน

"ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อสูงวัยแล้วฟันก็จะหลุดไปเป็นธรรมดา แล้วก็ใส่ฟันปลอมเอา เป็นความเชื่อที่ผิด เราต้องแก้ความเชื่อนี้ให้ได้ว่าฟันปลอมไม่มีทางแทนฟันธรรมชาติได้ สิ่งที่พอทดแทนได้ดีที่สุดคือรากเทียม แต่ใส่เท่าไหร่ถึงจะพอ ดังนั้นที่ดีกว่าคือเรามีฟันธรรมชาติ เพราะธรรมชาติออกแบบมาดีอยู่แล้ว จึงต้องสร้างความเชื่อว่าฟันควรจะอยู่กับเราไปตลอด และการแปรงฟันช่วยได้จริงๆ "

ทพ.พูลพฤกษ์ ยังเห็นว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะต้องรณรงค์เพิ่มมากขึ้นคือกลุ่มคนวัยทำงาน เพราะผลสำรวจพบว่ากลุ่มที่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุ 35 -45 ปี มีฟันที่ยังดีอยู่ 28 ซี่ แต่พออายุ 60 ปีฟันเหลือ 20-21 ซี่ และพอเข้าสู่สูงวัยฟันหายไปเลยโดยอายุ 70 ปี ฟันเหลือแค่ 15 ซี่ เมื่อ อายุ80 ปีก็เหลือเพียง 10 ซี่ ซึ่งช่วงหายที่ไปคือช่วงที่โรคกำเริบ จึงต้องรักษายืดระยะคนวัยทำงานที่มีฟัน 28 ซี่ ให้ยาวขึ้น และพออายุ 60 ปี จากที่จะเหลือแค่ 20 ซี่ ก็ให้เหลือ25 ซี่ เพื่อที่อายุ 80 ปี ก็จะเหลือฟันไม่น้อยกว่า 20 ซี่ ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้กลุ่มคนวัยทำงานก่อนเกษียณอายุควรจะต้องมีฟันเหลือไม่น้อยกว่า 24 ซี่

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงาน ทพ.ญสุปราณี ดาโลดม ผู้แทนจากมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้ส่งมอบนวัตกรรมอาหารทางการแพทย์ที่มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ ทำการศึกษาวิจัย พัฒนา ได้แก่ เจลลี่โภชนา และวุ้นชุ่มปาก ให้กทม.ได้นำไปมอบแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืนอาหารด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น