xs
xsm
sm
md
lg

“ไอติม” ชำแหละ 3 ปัญหาการศึกษา เปรียบเหมือนส่งคนไปตกปลา แต่ไม่มีเบ็ดดีๆ ให้ใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พริษฐ์” ชี้ 3 ปัญหาการศึกษาไทย งบซ้ำซ้อน-ต่างคนต่างทำ-คิดแทนผู้เรียน แนะ แบ่งจากโครงการใหญ่มาลงทุนกับการเพิ่มทักษะ เปรียบ รัฐส่งคนไปตกปลา แต่ไม่มีเบ็ดดีๆ ให้ใช้

วันนี้ (20 มิ.ย.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ โดยระบุว่า จากข้อมูล World Economic Forum ในไทย พบว่า แรงงานยังขาดทักษะในยุคดิจิทัล ดังนั้น การสนับสนุนทักษะจะเป็นเรื่องที่ดี

นายพริษฐ์ กล่าวว่า การมีเอไอไม่ได้หมายความว่าเราจะตกงาน แต่เราต้องปรับตัว รัฐบาลชุดนี้เหมือนให้ความสำคัญกับวิกฤตทักษะ แต่การกระทำเสียงดังกว่าคำพูดเสมอ จากการไล่ดู 5,000 กว่าโครงการ พบว่ารัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเรื่องการศึกษา การเรียนรู้การยกระดับทักษะในทุกช่วงวัยอยู่ที่ประมาณ 510,000 ล้านบาท โดยมีการกระจายไปถึง 175 หน่วยรับงบประมาณใน 14 กระทรวง พบปัญหาดังนี้

ปัญหาที่หนึ่ง คือ งบเรียนรู้ที่ไม่เน้นเรียนรู้ เป็นการลงทุนกับโครงการที่มีชื่อ แต่อาจสามารถส่งเสริมทักษะได้จริง เช่น โครงการพลิกโฉมแรงงานไทย ซึ่งกว่า 20% ของงบประมาณ ไม่ได้ถูกใช้กับการพัฒนาแรงงาน แต่ถูกใช้กับอาคาร และสิ่งก่อสร้าง หรือโครงการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถการทำงาน และการเป็นผู้สูงอายุ งบเพิ่มขึ้น 45% แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใช้ไปกับการปรับปรุงอาคาร

ปัญหาที่สอง ลงทุนแบบต่างคนต่างทำ ซึ่งทำให้โครงการของแต่ละหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน เข่น โครงการยกระดับทักษะดิจิทัลระดับสูงให้กับบุคลากร แต่กลับไม่ใช่กระทรวงดิจิทัล เป็นผู้ดูแล แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านการศึกษาก็ไม่สอดคล้องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ทักษะทุกช่วงวัยมีหลายหน่วยงานที่มีเว็บไซต์ ซึ่งมีความซับซ้อน และไม่ได้เชื่อมโยงกับหลายแพลตฟอร์ม

ปัญหาที่สาม ลงทุนในลักษณะ ‘ผู้เรียนไม่ได้เลือก ผู้เลือกไม่ได้เรียน’ มีรัฐที่คิดแทนตลาดในการยกระดับทักษะโรงงาน
ทั้งนี้ งบประมาณการเรียนรู้ การยกระดับทักษะตลอดชีวิต ฉบับก้าวไกล ผลักดันตัวเปลี่ยนเกม 3 ตัว คือ

1. อัดฉีดงบให้ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็กใน 1,000 วันแรก ขยายวันเวลาเปิดศูนย์เด็กเล็ก และขยายช่วงอายุของเด็ก

2. ระเบิดงบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระจายให้โรงเรียน ครู นักเรียน ให้งบก้อนเดียว โดยไม่กำหนดวัตถุประสงค์ ให้โรงเรียนมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณเองว่าจะลงทุนด้านไหน รวมถึงให้ครูมีอำนาจตัดสินใจว่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปพัฒนาทักษะด้านไหน และให้งบประมาณกับเด็กในการเลือกว่าจะเรียนรู้ทักษะด้านไหนเพิ่มขึ้น

3. การลงทุนในเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะ ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว มีการลงทุนด้านการศึกษามากกว่า แม้จะมีจำนวนประชากรน้อยกว่า จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการลงทุนแบบเบี้ยหัวแตกที่ต่างหน่วยงานต่างทำ มาเป็นการลงทุนแบบบาซูก้า รวมพลังกันทำ เปลี่ยนจากลงทุนซัปพลายไซด์ ที่ให้รัฐคิดแทน มาเป็นให้ดีมานด์ไซด์ให้ผู้เรียนเลือก

นายพริษฐ์ เสนอว่า ต้องทำตลาดคอร์สรวมให้กว้าง และผ่านเกณฑ์คุณภาพ ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ส่วนตัว และทำความเข้าใจผู้เรียนโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ และทำหน้าที่จับคู่ผู้เรียน หางานที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยต้องอุดหนุนคูปองให้คนเข้ามาเรียน ทั้งด้านทักษะขั้นพื้นฐาน ทักษะเชิงลึก และทักษะชีวิต

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เมกะโปรเจกต์นี้รัฐบาลยังไม่เริ่มทำ แม้ว่าจะมีหลายเว็บไซต์หลายแพลตฟอร์ม แต่รัฐยังไม่ได้เชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน ซึ่งโดยแนวทางที่รัฐกำลังเดินเป็นแนวทางแบบเดิมที่รัฐคิดแทนตลาดผู้เรียน ไม่ใช่ให้ตลาดนำแล้วให้ผู้เรียนเลือก ดังนั้น เมกะโปรเจกต์ที่พูดถึง นอกจากไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ทำแล้ว แต่เป็นสิ่งที่เราเริ่มทำได้เลย ส่วนเรื่องงบประมาณที่กังวลว่าอาจจะไม่เพียงพอ อาจแบ่งจากโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่จะทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 10% มาเพิ่มทักษะให้กับประชาชน

นายพริษฐ์ ระบุว่า งบประมาณปี 68 สะท้อนอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลยังคงเลือกที่จะลงทุนอย่างมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน อาคารโครงสร้าง โดยสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาในปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ คือ การลงทุนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

”เหมือนเรากำลังสร้างเรือ ซ่อมเรือ เพื่อเร่งส่งคนไปตกปลา แต่ตอนนี้เรากำลังแจกปลา แต่สิ่งที่เราไม่เคยให้เลยคือเบ็ดตกปลาที่มีประสิทธิภาพที่ทันยุคทันสมัย เท่าทันต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากเสนอคือการลงทุนเพิ่มทักษะเด็ก ตั้งแต่ครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” นายพริษฐ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น