xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ก้าวไกลโวยจัดงบ ศธ.แบบนี้ความเหลื่อมล้ำหมดกี่โมง กยศ.ขาดสภาพคล่องหนัก ของบ 5 พัน ล.แต่ไม่ได้สักบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ครูจวง” โวยจัดงบฯ 68 แบบนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะหมดกี่โมง ชี้ งบ กยศ.ขาดสภาพคล่องหนักมาก ของบ 5 พัน ล.แต่รัฐบาลไม่ให้สักบาท หวั่นทำเด็กหายออกนอกระบบ ชี้ ระบบเลื่อนขั้นครู ก่อเกิดการทุจริต-จ่ายใต้โต๊ะ บางโรงเรียนคิดไปกิโลละแสนบาท แนะยกเลิกโครงการ “รวมมิตรความดี” ชี้ “โตไปไม่โกง” แต่ผู้บริหารกินสะบั้นหั่นแหลก เหน็บ “โรงเรียนสีขาว” แต่ ผอ.ขายยา ด้าน “จุลพันธ์” ลุกแจง ยันงบ กยศ. มีเพียงพอให้กู้ ลั่น เด็ก 6 แสนราย ต้องได้กู้ยืม


วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระแรก ในวันที่สอง นายปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการจัดงบประมาณด้านการศึกษาของรัฐบาล จัดงบแบบนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะหมดกี่โมง การจัดงบประมาณแบบนี้ไม่โอบรับเด็กที่ตกหล่นทางการศึกษาอีกมากมาย เมื่อต้นเดือน มิ.ย. เป็นครั้งแรกที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานข้อมูลเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา พบว่า มีเด็กหลุดออกนอกระบบสูงถึง 1.02 ล้านคน โดยมีสาเหตุมาจากความยากจน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเรายังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และเด็กยากจนเป็นเด็กกลุ่มแรกที่หลุดออกจากนอกระบบ

“เราคงไม่สามารถดึงพวกเขากลับมาได้อีกแล้ว แสดงว่า การศึกษาเราทำเขาตกหล่นข้างทาง ไม่อบรับพวกเขาค่ะท่านประธาน ดังนั้นเราต้องห้ามเลือดไม่ให้ไหลออกไปมากกว่านี้ โดยการให้ความสำคัญกับเด็กปัจจุบันที่ยังไม่หลุด แต่สุ่มเสี่ยงที่จะหลุดในอีกไม่ช้า” นายปารมี กล่าว

นายปารมี กล่าวต่อว่า ยังมีเด็กอีกเกือบ 3 ล้านคน อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนรุนแรงที่สุดในประเทศ และในเด็กกลุ่มนี้ ตนกังวลใจมากที่สุด คือ เด็กที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งมีถึง 1 ล้านคน และหากเราไปดูงบของ กสศ. ที่จะช่วยเหลือเด็กหลุดออกนอกระบบ คิดว่า ไม่น่าจัดเตรียมงบช่วยเหลือได้แน่นอน เพราะเป้าหมายจะช่วยยังเท่าเดิม ถือว่าไม่เพียงพอ

“รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเร่งด่วน ตามนโยบายที่แถลงไว้กับรัฐสภา แต่กลับจัดสรรให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำไม่เพียงพอ กสศ. ต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้” นายปารมี กล่าว

นายปารมี กล่าวต่อว่า ในปี 2566 เด็กกลุ่มยากจนรุนแรง เรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้แค่ 12.46% แทนที่การศึกษาจะเป็นหนทางที่ไต่บันไดเลื่อนชนชั้น กลับกลายเป็นระบบการศึกษาไทยที่มีราคาแพงแสนแพง ทำลายโอกาสที่พวกเขาจะได้เลื่อนชนชั้น แค่ค่าสอบก็แพง ผลักเด็กให้เข้าไม่ถึง ถือเป็นการตัดโอกาสตั้งแต่ต้นทาง และเด็กบางคนมีแรงฮึดสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีเงินเรียน เพราะตอนนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กำลังประสบปัญหาหนักมาก ขาดสภาพคล่อง ไม่แปลกใจที่เราเห็น กยศ.กลับมาขอรับงบประมาณเป็นครั้งแรก สูงถึง 19,000 ล้านในรอบหลาย 10 ปี แต่รัฐบาลให้ได้แค่ 800 ล้านบาท และในงบปี 68 ก็ขอรับงบ 5,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ให้เลยสักบาท

“แทนที่รัฐบาลที่อ้างว่าจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเร่งด่วน แต่กลับเพิกเฉยต่อปัญหาสภาพคล่องของ กยศ. และไม่จัดสภาพคล่องให้อย่างเพียงพอ กยศ. กำลังประสบปัญหาอย่างหนักอาจจำเป็นต้องตัดเงินกู้ยืมที่จะให้เด็กในปีการศึกษานี้ และถ้าปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไข อาจต้องตัดเงินกู้ยืมให้เด็กที่เข้ารับการศึกษาไปแล้ว ไม่มีเงินเรียนต่อ เด็กจะต้องเลือกเรียนกลางคัน น่าเป็นห่วงมากนะคะ” นายปารมี กล่าว

นายปารมี ยังกล่าวว่า เด็กที่รวยก็ได้ร่ำเรียนในโรงเรียนในเมือง โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนอินเตอร์ แต่เด็กยากจน ถ้ายังไม่หลุดออกจากระบบก็จะได้เรียนโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้บ้าน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ตนพูดถึงมันแย่แค่ไหน เลวร้ายอย่างไร ดูคะแนน Pisa ที่วัดออกมา

“ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโรงเรียนในชนบท ขาดแคลนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงบรายหัวก็น้อย อาคารเรียนก็ผุพัง น้ำก็ไม่มี ไฟก็ไม่มี อุปกรณ์การเรียนก็ไม่ครบ ครูก็ไม่ครบชั้นครบวิชา ครูในโรงเรียนชนบทบางคนเป็นตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนยันภารโรง” นายปารมี กล่าว

นายปารมี กล่าวว่า ประเทศเราไม่ได้ขาดแคลนครู แต่ครูกระจุกอยู่ในเมือง ต่างพากันแย่งชิง ขอย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่จนทำให้โรงเรียนชนบทขาดแคนครูอย่างหนัก เพราะครูในโรงเรียนชนบทงานหนักมาก ทำทั้งงานราษฎร์ งานหลวง แต่เงินเดือนเท่ากับครูโรงเรียนในเมือง เกณฑ์การเลื่อนขั้นก็ใช้แบบเดียวกับในเมือง ทำให้มีการทุจริตในการเลื่อนขั้น ต้องจ่ายใต้โต๊ะ
“นับกันกิโลละแสนบาท คือ วัดระยะทางจากโรงเรียนใหม่ไปโรงเรียนเก่า ว่าห่างกันกี่กิโลเมตรถึงก็คูณเงินกันไป กิโลเมตรละแสนบาท ดิฉันฟังแล้วเศร้าสลดมาก นี่หรือคะ วงการการศึกษาที่ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เติบโตไปเป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม” นายปารมี กล่าว

นายปารมี ระบุว่า ปัญหาขาดแคนอุปกรณ์ดิจิทัล เริ่มเห็นชัดจากช่วงหลังโควิด-19 แต่รัฐบาลกลับทางตรงกันข้าม ทำโครงการ Anywhere Anytime เป็นอภิมหาโปรเจคสุดยอดภาคภูมิใจของรัฐบาล ทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ดี ตนสนับสนุน แต่โครงการนี้มีความเหลื่อมล้ำจนตนปล่อยผ่านไม่ได้

“โครงการนี้มีวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท ในงบผูกพัน 5 ปี จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะรัฐบาลให้แค่นักเรียน ม.ปลาย ของ สพฐ.เท่านั้น และครอบคลุมแค่ 600,000 คน จาก 1.06 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมอยู่แล้ว แล้วโรงเรียนอื่นล่ะคะ หายไปไหน” นายปารมี กล่าว

นายปารมี เสนอว่า ให้ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบอย่างเร่งด่วน การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องฟรีจริง ไม่ใช่เรียนฟรีทิพย์ ปลอมเปลือกแบบทุกวันนี้ ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่ม โรงเรียนต้องเก็บเพิ่มยุบยับ รัฐบาลต้องมีจินตนาการใหม่ๆ ในการจัดงบ
“ต้องยกเลิกโครงการที่ไม่จำเป็นที่ดึงครูและนักเรียนออกนอกห้องเรียน ประเภทโครงการรวมมิตรความดี ของบทุกปี เช่น โตไปไม่โกง แต่ผู้บริหารโกงกินสะบั้นหั่นแหลก โครงการโรงเรียนสีขาว แต่มีข่าวว่าผู้อำนวยการโรงเรียนค้ายาเสพติดเอง” นายปารมี กล่าว

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงกรณี กยศ. ว่า การของงบ กยศ.ในปี 2568 นี้เป็นการของบที่ 19,000 ล้านบาท เพื่อปรับให้ เท่ากับพระราชบัญญัติ กยศ.ฉบับใหม่ เนื่องจากการหารือกับสำนักงบประมาณ สามารถบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบเงินคงเหลือในกองทุน และเงินที่รับคืนจากลูกหนี้ และข้อกังวลเรื่องงบประมาณการดำเนินงานของกองทุน กยศ.ไม่เพียงพอ ยังมีกลไกอื่นมารองรับเช่น ช่องทางของงบกลาง ที่จะยืนยันได้ว่าจะไม่มีนักศึกษา หลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่สามารถกู้ยืมเงินได้

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าการกู้ยืมเพื่อการศึกษาไว้ที่ 620,000 ราย แบ่งเป็นกลุ่มนักเรียนเก่า 75% และกลุ่มนักเรียนใหม่ 25% ในการปรับตัว ให้เข้ากับกฎหมายฉบับใหม่ คือ ปรับตัวเรื่องเบี้ยปรับ จาก 18% เป็น 0.5% เรื่องของการห้ามฟ้อง และตัดผู้ค้ำประกันออก ให้คิดย้อนหลังตั้งแต่วันกู้จนถึงวันชำระครั้งสุดท้าย

โดยสิ่งที่มอบนโยบายไว้ให้กับผู้จัดการกองทุน กยศ. และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง คือ วันนี้ไม่เข้มงวดไม่มีกระบอง ให้หาแรงจูงใจ ให้เกิดการชำระที่ดีกับ กยศ.เช่น หากเกิดการชำระดีผู้กู้จะมีโอกาสได้รับเงินกู้จากธนาคารเครือข่ายที่มากขึ้น และดอกเบี้ยที่ผ่อนตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น