xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิธรรม” แถลงเหตุผลแก้ พ.ร.บ.ประชามติต่อสภา อ้าง กม.เดิมไม่สอดคล้องสถานการณ์ เสนอใหม่ออกเสียงวันเดียวกับเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภูมิธรรม” เสนอแก้ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 64 เหตุ ใช้งบจำนวนมาก-ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน-ฟังความเห็นไม่รอบด้าน เสนอร่าง ครม. ให้ออกเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์-เลือกวันเดียวกับวันเลือกตั้งทั่วไป หวัง สภาหนุนร่างฯ นี้

วันนี้ (18 มิ.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยมีผู้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว รวม 4 ฉบับ คือ ฉบับของคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เห็นแตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีสาระสำคัญ ดังนี้

เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอ ประการแรก คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติ จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จะทำประชามติ การกำหนดให้การออกเสียงที่ถือว่ามีข้อยุติ มีจำนวนคะแนนการออกเสียงมากเกินไป จะทำให้ได้ข้อยุติในเรื่องที่จะทำประชามติยากขึ้น โดยการออกเสียงในแต่ละครั้ง อาจไม่ประสบความสำเร็จ และจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ให้การออกเสียงประชามติตรงกับวันเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ต้องกำหนดวันออกเสียงแยกต่างหาก ทั้งที่อาจอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ย่อมเป็นการเพิ่มภาระงาน และงบประมาณแผ่นดินในการจัดการออกเสียงและเป็นภาระกับประชาชนที่ต้องมาใช้สิทธิ์หลายครั้ง

ประการที่สอง วิธีการออกเสียง โดยกำหนดให้การออกเสียง กระทำโดยบัตรออกเสียงเป็นหลัก อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเข้าถึงการออกเสียงได้สะดวกรวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ประการที่สาม กฎหมายเดิมกำหนดเพียงให้จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดให้มีการออกเสียงอย่างรอบด้านเท่าเทียมกันเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ชัดเจนว่า ความเห็นของผู้ที่เห็นชอบในเรื่องการจัดทำประชามติ จะได้รับการรับฟังอย่างทั่วถึงหรือไม่ และนำไปสู่การโต้แย้งผลการทำประชามติได้

คณะรัฐมนตรี จึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ของคณะรัฐมนตรีมีหลักการสาระสำคัญ และเนื้อหา ดังนี้

1. ชื่อร่างพระราชบัญญัติ (ร่างมาตรา 1)

2. วันใช้บังคับ กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ บังคับใช้ถัดจากวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)

3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 วรรคหนึ่ง กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกันกับวันเลือกตั้ง (ร่างมาตรา 3)

4. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 วรรคสาม กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการออกเสียง อาจกำหนดให้การนวันออกเสียงเป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง (ร่างมาตรา 4)

5. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 กำหนดให้การออกเสียง ให้กระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิธีอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีลงคะแนนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่ง หรือหลายเขตออกเสียง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 5)

6. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 กำหนดให้การออกเสียง ที่ถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จะทำประชามติให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น (ร่างมาตรา 6)

7. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการเผยแพร่กระบวนการ และขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ และเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบในเรื่องการจัดทำประชามติ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 7)

8. ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18 กำหนดให้การออกเสียงจากใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่น เป็นเขตออกเสียงก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 18

9. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรามาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดให้มีการออกเสียงที่ออกเสียงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่พื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ การเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ ในวันเดียวกันกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียง และที่ออกเสียงตามพระราชบัญญัตินี้ในพื้นที่ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 9)

“การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2514 เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำประชามติ ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการทำประชามติโดยอิสระมากขึ้น จึงหวังว่าสภาแห่งนี้จะให้การสนับสนุนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอย่างดี” นายภูมิธรรม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น