xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ชงกฤษฎีกาตรวจ ทราบแผนจัดทำกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อมส่งกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ทราบแผนในการจัดทำกฎหมาย


วันนี้ (28 พ.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป และ 2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่) พ.ศ. .... ที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เสนอ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ในประเด็นต่างๆ อาทิ การกำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยอาจกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติพร้อมกับกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ การกำหนดคะแนนเสียงในการทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงประชามติและต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น โดยตัดเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติออก กำหนดวิธีการออกเสียงประชามติ โดยให้สามารถกระทำโดยการออกเสียงทางไปรษณีย์ การออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นได้ กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการให้มีการแสดงความคิดเห็น โดยเมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ และเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากไม่ต้องเดินทางไปใช้สิทธิหลายครั้ง และสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากขึ้น นอกจากนี้ การกำหนดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ เป็นหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดไตร่ตรองก่อนออกเสียงประชามติ

“สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 1 ฉบับ” นายคารม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น