“ธนกร” ยกผลโพลสภาเสียงประชาชนส่วนใหญ่กว่า 64.66% ไม่เห็นด้วยร่าง พ.รบ.นิรโทษกรรมฉบับ ปชช. รวมคดี ม.112-คดีโกง-ทำคนตาย ย้ำชัด คนต้องการยึดหลัก กม. ชี้ เรื่องดีเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ร่างกฎหมายในสภาต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม
วันที่ 14 มิ.ย.2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมือง พ.ศ.(ฉบับประชาชน)ซึ่งรวมมาตรา 112 ผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 13 พ.ค. - 13 มิ.ย. 2567 รวม 1 เดือนเต็ม ซึ่งมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 90,533 ราย โดยมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย 64.66% ส่วนที่เห็นด้วยเพียง 35.34 % ถือเป็นความตื่นตัวของประชาชนที่ให้ความสนใจต่อเรื่องดังกล่าวอย่างมาก และส่วนใหญ่เสียงที่ออกมา สะท้อนถึงเจตจำนงในการยึดหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น
พร้อมมองว่า ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชน มีการเสนอให้รวมคดีที่มีผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับการดูหมิ่นก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง และคดีความผิดที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่มีโทษร้ายแรงและความผิดที่ประชาชนไม่สามารถรับได้หากมีการนิรโทษกรรม
เมื่อถามว่า ผลสำรวจความเห็นเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชนสะท้อนอะไรถึงร่างนิรโทษกรรมที่กรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่นั้น นายธนกร กล่าวว่า มองสะท้อนภาพใหญ่ ถึงความคิดเห็นประชาชน ทั้งประเทศที่ต้องการบอกเจตจำนงว่า การพิจารณา กฎหมายสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมต้องอยู่ในกรอบที่เป็นคดีการเมืองจริงๆ แม้ว่าบางคดีอาจจะมีการอ้างเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง แต่ไปเกี่ยวโยงกับคดีมาตรา 112 ตนคิดว่ากรรมาธิการเองก็ต้องรับฟังเสียงประชาชน เพราะกฎหมายอะไรที่ผ่านสภาออกไป ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย เพราะหากค้านสายตาประชาชนอาจเป็นการสร้างข้อขัดแย้งใหม่ขึ้นในประเทศได้
“กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายรอบด้าน เช่นเดียวกับฉบับประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้แสดงความเห็นตลอด1 เดือนเต็ม ผ่านเว็บไซต์ของสภามาแล้ว เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะคดีม.112 คดีทุจริตประพฤติมิชอบ และคดีที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรงและไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง เชื่อว่าคนไทยรับไม่ได้หากมีการรวมด้วย กมธ.จึงไม่ควรที่จะลังเลนำเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนกระทบจิตใจคนไทยแบบนี้ เข้าไปพิจารณารวมอยู่ในร่างนิรโทษกรรมด้วย“ นายธนกร ย้ำ