รมว.ต่างประเทศ เตรียมเยือนกัมพูชา ถกรื้อสันเขื่อนใกล้ชายแดน จ.ตราด เขมรสร้างยื่นลงทะเล ส่งผลแนวเขตแดนเปลี่ยนจนไทยอาจเสียเกาะกูด โวความสัมพันธ์สองชาติดีมาก เป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่ไปขอเขาอย่างเดียว ต้องมีของแลกเปลี่ยน ส่วน MOU44 ไม่ถือเป็นสนธิสัญญา ไม่มีผลต่อเขตแดนพื้นที่ทับซ้อน
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะนักกฎหมายอิสระ ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนบริเวณไหล่ทวีป พ.ศ. 2544 (MOU 2544) ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังพบ MOU ดังกล่าวไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภา ว่า ยืนยันว่า MOU ไม่ได้มีบทบังคับอะไร หรือเป็นสนธิสัญญา และปัจจุบันเรายังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด พร้อมยืนยันว่า MOU 2544 ไม่ได้ส่งผลต่อเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
นายมาริษ กล่าวว่า ภายหลังจาก นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเยือนไทย ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อผลักดันเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราต้องพิจารณาให้ชัดเจน เรื่องผลประโยชน์อยู่ตรงไหน และที่สำคัญ ตนกำลังหารือเป็นการภายในกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเคลียร์ทุกสิ่งทุกอย่าง โดยอยากให้กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงและให้ความรู้กับประชาชน ขอเวลาพูดคุยรายละเอียดให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งตนตั้งใจที่จะให้ข้อมูลต่อสารธารณชนให้ได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสน
ส่วนที่ทางกระทรวงกลาโหม เคยทำหนังสือเสนอรัฐบาลให้แบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนควบคู่กับการปักปันเขตแดน นายมาริษ กล่าวว่า ขอคุยรายละเอียดในกระทรวงการต่างประเทศก่อน ต้องดูว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และต้องการให้ทุกคนเห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร
เมื่อถามว่า กระทรวงการต่างประเทศ เคยทำหนังสือประท้วงกรณีที่ทางกัมพูชาสร้างสันเขื่อนลงทะเลอ่าวไทยเมื่อปี 2564 จะต้องทำหนังสือประท้วงไปอีกครั้งหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ และตนมีแผนที่จะไปเยือนกัมพูชา เร็วๆ นี้ ซึ่งขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศดีมาก เราต้องดูเวลาว่าควรเป็นช่วงใด ซึ่งในกรอบของอาเซียน ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ
เมื่อถามว่า จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาขอร้องให้รื้อสันเขื่อนดังกล่าวหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ขอดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะเรื่องความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา เป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่ว่าจะไปขอเขาอย่างเดียว ก็ต้องดูว่าเรามีอะไรที่จะไปแลกเปลี่ยนเขาได้
เมื่อถามว่า คนไทยไม่สบายใจเพราะหลังจากกัมพูชาสร้างสันเขื่อนดังกล่าวหากยึดตามหลักเขตที่ 73 เขตแดน กัมพูชาจะกินพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด นายมาริษ กล่าวว่า ตนเข้าใจ
ทั้งนี้ กัมพูชาได้ก่อสร้างสันเขื่อนยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลใกล้หลักเขตที่ 73 ติดกับบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด โดยอ้างว่า เพื่อป้องกันคลื่นจากทะเล แต่เขื่อนดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต เนื่องจากกติกาเขตทะเลของสหประชาชาติ ปี 1982 ข้อ 11 ซึ่งระบุว่า สิ่งก่อสร้างถาวรตอนนอกสุดของเขตท่า ซึ่งประกอบเป็นส่วนอันแยกออกมิได้ของระบบการท่านั้น ให้ถือว่าประกอบเป็นส่วนของฝั่งทะเล ดังนั้น การมีสันเขื่อนนี้ยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลดังกล่าว จะทำให้องศาของเส้นแบ่งอาณาเขตเปลี่ยนไป ทำให้กัมพูชาสามารถอ้างเขตแดนทางทะเลได้กว้างขึ้น หากมีการลากเส้นเขตแดนตามกติกาดังกล่าวเกาะกูดจะกลายเป็นของกัมพูชาทันที
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
-ไทยเสี่ยงเสียดินแดนทางทะเล “ธีระชัย” แนะรัฐบาลประท้วงกัมพูชาด่วน
-เตือนไทยมัวเงียบ เสียดินแดนซ้ำรอยปราสาทพระวิหาร เร่งประท้วงกัมพูชารื้อแนวสันเขื่อน-ยกเลิก MOU 2544 เจรจาตามกติกาใหม่ยูเอ็น