xs
xsm
sm
md
lg

“ธัญวัจน์” รับร้องเรียน สำนักปลัดกลาโหม ยังห้ามคนเป็น “โรคกะเทย” เข้าเป็นพนักงานราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธัญวัจน์” รับเรื่องร้องเรียน คุณสมบัติพนักงานราชการสำนักปลัดกลาโหม ยังต้องห้ามเป็น “โรคกะเทย” ทั้งที่ไม่ส่งผลใดๆ ต่อการทำงาน ย้ำ เนื่องในวันยุติการเกลียดกลัวเพศหลากหลาย รัฐ-สังคม ควรเปิดกว้าง หยุดเลือกปฏิบัติ-กีดกันการรับสมัครงานด้วยเหตุแห่งเพศ
.
วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล อาคารอนาคตใหม่ ซอยหัวหมาก 12 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือร้องเรียนจาก ลฎาภา ณภาศิริ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพบว่าการประกาศรับสมัครบุคลากรของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งพนักงานรวบรวมและเตรียมข้อมูล ยังมีการระบุคุณสมบัติต้องห้ามข้อหนึ่งว่าต้องไม่เป็น “โรคกะเทย (Hermaphrodism)” แต่ไม่มีการระบุรายละเอียดเพิ่มเติมถึงความหมายของโรคดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศ


นายธัญวัจน์ กล่าวว่า คุณสมบัติต้องห้ามนี้อ้างอิงมาจากกฎกระทรวงกลาโหมฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540) ที่ระบุถึงโรค สภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ โดยในมุมมองทางการแพทย์ปัจจุบันให้คำนิยาม “Hermaphrodism” ว่าหมายถึงบุคคลที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งเพศหญิงและเพศชายอยู่ในตนเอง หรือบุคคลที่บางอวัยวะเป็นเพศชายแต่บางอวัยวะเป็นเพศหญิง หรือมีไม่ชัดเจน ทำให้แพทย์ไม่สามารถตัดสินได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง อาจกล่าวได้ว่า Hermaphrodism เป็นกลุ่มย่อยหนึ่งที่มีพัฒนาการทางเพศแตกต่างจากเพศชายหรือเพศหญิง และอยู่ภายใต้ร่มของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex)
.
อย่างไรก็ตาม นายธัญวัจน์ ย้ำว่า ถึงแม้กลุ่มคนดังกล่าวจะมีเพศทางกายภาพที่แตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการทำงานตามตำแหน่งที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมประกาศรับสมัครแต่อย่างใด เพราะเป็นพนักงานราชการทั่วไปที่มีหน้าที่รวบรวมและเตรียมข้อมูล ไม่ได้รับราชการทหารที่มีการกำหนดคุณลักษณะทางกายภาพไว้ชัดเจน
ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมต้องตอบคำถามให้ชัดว่า การประกาศรับสมัครพนักงานราชการทั่วไปโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการรับสมัครทหารนั้นเหมาะสมหรือไม่ มีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร ถ้าพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันก็ควรยกเลิกคุณสมบัติข้อนี้ ยกเลิกการเลือกปฏิบัติและการกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศไปได้แล้ว โดยตนขอรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้ เพื่อนำไปประสานและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป


นายธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากวันนี้เป็นวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia: IDAHOBIT) Hermaphrodism หรืออินเตอร์เซ็กซ์เป็นกลุ่มคนที่ถูกพูดถึงน้อย และมีอุปสรรคจากการถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอย่างหนักหน่วง เนื่องจากผู้คนยังขาดความเข้าใจในความหลากหลาย ภายใต้สังคมที่อยู่ในระบบสองเพศมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ตนและคณะทำงานของพรรคก้าวไกลกำลังร่วมมือกับภาคประชาสังคม เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขคำนำหน้านามและการระบุเพศฉบับใหม่ เพื่อเตรียมยื่นเข้าสู่สภาฯ อีกครั้งในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ โดยมีหลักการสำคัญคือการเคารพเจตจำนงในการกำหนดเพศของตนเอง รวมถึงสิทธิของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์ที่จะไม่ถูกแพทย์ตัดสินใจเลือกเพศให้ตั้งแต่กำเนิด

“เพราะเรื่องเพศคือลมหายใจและย่างก้าวในการดำเนินชีวิต เจตจำนงที่ต้องการจะดำรงอยู่ในเพศใดจึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” นายธัญวัจน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น