xs
xsm
sm
md
lg

ชง 6 ข้อเสนอ "ชลน่าน" ลุยงานสุขภาพคนข้ามเพศ สช.หนุนจัดสมัชชาฯ ปีนี้พัฒนานโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคีสุขภาวะคนข้ามเพศ เผย 4 ข้อจำกัดบริการสุขภาพ ชง 6 ข้อเสนอถึง "ชลน่าน" พัฒนานโยบายสุขภาพคนข้ามเพศ ทั้งเอชไอวี การมีส่วนร่วมงานวิจัย พัฒนาบุคลากรจัดบริการรองรับ พัฒนาบริการด้านสุขภาพจิต สช.หนุนจัดสมัชชาสุขภาพที่เป็นธรรมของคนข้ามเพศในปีนี้ พัฒนาข้อเสนอนโยบายลดช่องว่าง

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเพื่อส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศ นำโดย ณชเล บุญญาภิสมภาร ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัญหาและข้อเรียกร้องเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาสุขภาวะคนข้ามเพศ เนื่องในกิจกรรมรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศ ระหว่างวันที่ 27 - 30 มี.ค. 2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. เป็นผู้รับเรื่อง
ภาคีเพื่อส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศ ได้รายงานสถานการณ์ และข้อจำกัดด้านบริการสุขภาพในหน่วยบริการของรัฐ ดังนี้ ​1.ปัญหาความชัดเจนในมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ และทัศนคติของผู้จัดบริการที่ต้องมีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ​2. ขาดบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ในต่างจังหวัด ​3. ขาดการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ การจัดบริการในมิติสุขภาพที่เน้นเพียงบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เท่านั้น และ 4. ขาดมิติทางสุขภาพที่เป็นองค์รวมเพื่อการมีสุขภาวะของคนข้ามเพศ

สำหรับ 6 ข้อเสนอที่ยื่นต่อ รมว.สธ.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ สู่การมีสุขภาวะที่ดีมีดังนี้

​1. จัดบริการด้านเอชไอวีในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศให้เป็นบริการที่เน้นการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวม สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล

2. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนข้ามเพศ ในการติดตามและการนําเสนอความก้าวหน้าในงานวิจัยและการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบรอบด้าน

3. พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพทุกระดับ ให้มีทักษะ มีความรู้ และมีความละเอียดอ่อน
ในการจัดบริการด้านสุขภาพให้กับคนข้ามเพศ

4. สนับสนุนและพัฒนาข้อมูลวิชาการ การวิจัยในระบบบริการสุขภาพแบบรอบด้าน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนข้ามเพศ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

5. สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานและระบบบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับคนข้ามเพศสูงวัย

6. พัฒนาบริการด้านสุขภาพจิต ให้เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลสุขภาพสำหรับบุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฉบับที่ 8 ในการออกหนังสือรับรองแก่ผู้หญิงข้ามเพศในการเกณฑ์ทหาร



นายเตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง (ศสม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับทีมเครือข่ายคนข้ามเพศ เสนอให้มีการจัด Pride health assembly หรือ สมัชชาสุขภาพที่เป็นธรรมของคนข้ามเพศ ภายในปี 2567 เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาข้อเสนอนโยบายนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อลดช่องว่างต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น