“รัดเกล้า” เผย ครม. เห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับ กระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
วันนี้ (14 พ.ค.) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง กษ. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ กษ. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. เมื่อปี 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยได้ตกลงให้จัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ ซึ่งต่อมาได้มีการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องและสามารถหาข้อยุติร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในสาขาเกษตรและพัฒนาศักยภาพการผลิตในภาคเกษตรบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทั้งสองฝ่าย โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานปลัดกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์) และผู้กระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป็นหน่วยงานประสานหลัก มีสาขาความร่วมมือกว่า 13 ด้านยกตัวอย่าง เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การแปรรูปอาหาร การจัดการน้ำและที่ดิน เครื่องจักรกลการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในสาขาเกษตรและเทคนิคการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ฯลฯ ซึ่งราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือถึงขั้นตอนและมาตรการที่จำเป็นสำหรับการยกระดับและพัฒนาความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ โดยคณะทำงานร่วมจะจัดการประชุมตามความเหมาะสม ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และทั้งสองฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองตามข้อผูกพันในบันทึกความเข้าใจฯ
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ทำการแจ้งครั้งสุดท้ายระหว่างกัน ผ่านช่องทางการทูตว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในทางกฎหมายที่จำเป็นเพื่อให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้สมบูรณ์แล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติต่อเนื่องเป็นระยะเวลาทำนองเดียวกัน เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านช่องทางการทูตถึงเจตนารมณ์ที่จะยกเลิกหรือไม่ต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ อย่างน้อย 6 เดือน ก่อนวันที่บันทึกความเข้าใจนี้จะสิ้นสุดลง
“ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างประเทศไทยและซาอุฯ ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อยอดประโยชน์จากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ที่ทำมาต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า สานต่อโดยรัฐบาลชุดนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจเป็นอย่างมากสำหรับพวกเราคนไทย” รองโฆษกฯ รัดเกล้า กล่าว