xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ก้าวไกลติงรัฐสื่อสารเหตุไฟไหม้โรงงานมาบตาพุดล่าช้า ทำ ปชช.ตื่นตระหนก ข้องใจรายงานคุณภาพอากาศ-วัดทิศทางลมได้มาตรฐานหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กมลทรรศน์” ติงรัฐสื่อสารล่าช้า ปมไฟไหม้โรงงานมาบตาพุด ระยอง ไม่ชัดเจน ทำ ปชช.ตื่นตระหนก ข้องใจ ‘รายงานคุณภาพอากาศ-เช็กทิศทางลมพัดควัน” เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ทำกระทบสุขภาพ แนะผนึกร่วมแก้ปัญหา ใช้เป็นโมเดลต้นแบบแจ้งเตือนภัย เตรียมชงข้อสังเกตเข้า กมธ.อุตสาหกรรม เรียกหน่วยเกี่ยวข้องแจง

วันที่ 13 พ.ค. 2567 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา น.ส.กมลทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล ส.ส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีเพลิงไหม้โรงงานถังเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน บริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล จำกัด อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับที่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ขอชื่นชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นักผจญเพลิง ที่ได้รับเข้าระงับเหตุกันอย่างเต็มความสามารถ แต่แม้จะระงับเหตุได้ แต่ยังเกิดปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ที่อาจเป็นสาเหตุไม่สามารถควบคุมเพลิงได้รวดเร็วทันท่วงที การแจ้งเหตุ การสื่อสารกับประชาชน และสื่อมวลชนค่อนข้างน้อย ล่าช้า ไม่ชัดเจนทำให้เกิดความตระหนก ความสับสนกับประชาชนในพื้นที่ ที่ไม่ทราบว่าจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไร มีชุมชนใดต้องอพยพ อพยพไปที่ใดถึงจะปลอดภัย
น.ส.กมลทรรศน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของหน่วยงาน การดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น สุขภาพประชาชนในพื้นที่ เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ การตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นไปตามกับทิศทางลมหรือไม่ เนื่องจากปลายทางของทิศทางลมที่พัดพาควันจากเพลิงไหม้ไปทาง อ.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และ ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง แต่จุดวัดคุณภาพอากาศยังอยู่ที่ชุมชนตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้าม ขณะเดียวกัน มีประชาชนได้รับผลกระทบสุขภาพ เช่น ระคายเคืองผิว แสบตา แสบคอ เวียนศีรษะ อาเจียน มีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพในพื้นที่ พบว่า แสดงอาการถึงกว่า 100 คน ในจำนวนนี้อาการหนัก 60 กว่าคน แต่ตัวเลขการตรวจวัดคุณภาพอากาศกลับบอกว่าปกติ จึงขอถามว่าใช้เกณฑ์ใดในการตรวจวัด ซึ่งตนในฐานะรองประธาน กมธ.อุตสาหกรรม จะนำข้อสังเกตดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม กมธ. วันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อที่จะได้พิจารณาเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นิคมอุตสาหกรรม และบริษัทธุรกิจในนิคมฯ มาชี้แจงต่อกมธ.เพื่อหาแนวทางป้องกันรับมือต่อไป

“เราควรมาร่วมกันป้องกันปรับปรุง ทบทวนมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนการป้องกันเหตุ การประเมินความเสี่ยงแผนฉุกเฉิน แผนเผชิญเหตุ แผนอพยพประชาชน แผนการสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงแผนการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จ.ระยอง ได้ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2552 แต่กลับมีจำนวนโรงงานเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้น การประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษจากอุตสาหกรรม ต้องมีการทบทวนหรือไม่ ศักยภาพการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระดับจังหวัดควรต้องมีการทบทวนหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จ.ระยอง ควรมีมาตรการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินแบบข้อความส่งตรงประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับมือเหตุการณ์ ขณะที่ส่วนราชการควรสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ง่ายต่อการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดย จ.ระยอง อาจสร้างเป็นโมเดลในการดำเนินการ” น.ส.กมลทรรศน์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น