“จตุพร” ชี้เปรี้ยง ปัจจัยเสี่ยงยึดอำนาจมาจากคนเดียว ปี 49 ปี 57 ดีลกลับบ้าน ปี 66 ลากมาปี 67 ระบุไม่ตรงกับดีลกลับไทย “อดีตบิ๊ก ศรภ” ซัด นักการเมืองคือต้นเหตุ “รปห.” ไม่ใช่กฎหมาย ย้อนอดีต “ทักษิณ” เคยตั้ง ผบ.ทบ.ยังป้องกันไม่ได้
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 เม.ย. 67) กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ เกี่ยวกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (บิ๊กโจ๊ก) รอง ผบ.ตร. ถูกสั่งพักราชการยื่นร้อง ป.ป.ช. และเรื่อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แต่งตั้ง ผบ.ตร. (เมื่อปี 2566) ผิดกฎหมาย
โดยย้ำว่า ป.ป.ช.มักใช้ความชำนาญพิเศษปฏิบัติงานดึงเรื่องให้ล่าช้าไว้ นอกจากนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ยังยื่นร้องปมหน่วยงานและกระทรวงยุติธรรมพิจารณา ทักษิณ ชินวัตร ป่วยทิพย์ส่งตัวเข้าพักชั้น 14 รพ.ตำรวจ แล้วนำมาสู่การพักโทษ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อสงสัยของสังคมมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น มีการดึงเรื่องนายกฯ ใช้รถประจำตำแหน่งมาใช้ส่วนตัวในวันหยุด ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานราชการ โดยเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าเพื่อพบทักษิณถึง 2 ครั้ง แต่ ป.ป.ช. ยังดองเรื่องไว้อีกตามเคย ทั้งที่ข้อเท็จจริง หลักฐานมีพร้อมก็ไม่น่าใช้เวลาพิจารณากันให้นานวัน ทั้งที่กรณีนี้ ป.ป.ช.เคยชี้มูล นายก.ท้องถิ่นคนอื่นๆ กระทำผิดมาแล้วและถูกลงโทษกันมากมาย
นายจตุพร กังขาว่า เรื่องที่สิ้นสงสัยแล้ว ป.ป.ช. ดึงไว้ทำอะไร ควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยด่วน อีกทั้ง กกต.จะตรวจสอบ ส.ส.ในหนึ่งปีหลังเลือกตั้ง แต่กลับรอให้ทำความเสียหายก่อนจึงจะตรวจ ซึ่งเป็นหลักสวนทางกับคำประกาศไม่ให้คนชั่วเหยียบบันไดสภาอย่างชัดเจน ดังนั้น ทุกเรื่องที่ไปให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ วันนี้ ถ้าไม่แก้ไขปัญหากันจริง แต่ดึงเรื่องให้ล่าช้า จะเป็นการสร้างปัญหาขึ้นในอนาคต
ส่วนการปรับ ครม. นายจตุพร กล่าวว่า เริ่มมีเสียงแผ่วเบาลง เพราะการเสนอปรับไม่เป็นไปตามดีล อีกอย่าง ทักษิณ มีพฤติกรรมเมินรับพวงมาลัยของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เข้าอวยพรวันสงกรานต์ จนนำไปสู่การประกาศแก้กฎหมายจัดระเบียบกลาโหมหวังสกัดการ รปห. ทั้งที่ในเรื่องนี้ ไม่มีกฎหมายใดเขียนห้าม รปห.ได้เลยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ
“เมื่อแสดงถึงความไม่ไว้วางใจระหว่างกันออกมา ดังนั้น การแก้กฎหมายจัดระเบียบกลาโหมย่อมสะท้อนถึงความสะใจตอบโต้ สิ่งสำคัญการตั้งกรรมการติดตามความไม่สงบในพม่า มีรัฐมนตรีต่างประเทศและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ แต่ขาด รมต.กลาโหมคนเดียว จึงเป็นเรื่องน่าแปลก และเป็นการบริหารประเทศแบบประหลาดอย่างยิ่ง”
นายจตุพร กล่าวถึงการแจกเงินหมื่นบาทในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไตรมาส 4 ปี 2567 คงไม่มีจริง เพราะการแถลงประกาศของรัฐบาลนั้น สะท้อนถึงความไม่พร้อมอะไรออกมาโชว์ถึงการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว แต่ตรงกันข้ามกลับแถลงเพียงเอาหน้ารอดไปเป็นเดือนและไตรมาสเท่านั้น
ที่สำคัญ กลับส่อเจตนาเบียดบังเอาเงินงบประมาณ และเงิน ธ.ก.ส.มาใช้กับดิจิทัล ทั้งที่งบประมาณยังไม่ได้ใช้สักบาท แล้วรู้ได้อย่างไรว่า จะเหลือเท่านั้น เท่านี้ อีกทั้งเชื่อว่า เงินดิจิทัลจะเป็นปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเสี่ยงต่อคุกตะราง
“สิ่งสำคัญ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนนำพาไปสู่การล้มกระดานรัฐบาลได้ทั้งหมดและปัจจัยมาจากคนเดียวเป็นหลัก ปี 49 ปี 57 และปรากฏการณ์ดีลกลับบ้าน ปี 66 แล้วลากมาปี 67 ก็มาจากคนเดียวอีก เพราะเรื่องที่ปรากฏขณะนี้นำมาเป็นสาเหตุอ้างยึดอำนาจได้ทั้งสิ้น เนื่องจากทุกเรื่องไม่ตรงกับดีลที่อ้างให้กลับไทย”
พร้อมทั้งเชื่อว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ที่เดือดระอุขึ้นในเมษายน จะเห็นได้ชัดเจนช่วง 20- 29 พ.ค. ถ้าไม่มีท่าทีใดๆ ของทักษิณเกิดขึ้นมาอีก ซึ่งคาดว่า จะนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงต่อการยึดอำนาจและประชาชนตื่นตัว โดยอะไรจะเกิดขึ้นก่อนกันย่อมน่าสนใจ
ประเมินว่า ปรากฏการณ์เมินพวงมาลัยนายสุทิน แล้วขยับมาแก้กฎหมายจัดระเบียบกลาโหม จึงถูกตีความว่า รู้เห็นเป็นใจต่อกัน เพื่อสกัดการยึดอำนาจที่อาจก่อตั้งเค้าอยู่ จึงเท่ากับเป็นการสร้างแรงกระพือโหมขึ้นช่วงเมษาร้อน ทั้งที่เรื่องนี้ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะต้องเลย
ดังนั้น จึงไม่ต่างจากการสุมไฟใส่ทหารให้รุ่มร้อนขึ้น โดยมีบทเรียนตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็น รมช.กลาโหม แล้วเกิด รปห. ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปี 2534 มาแล้ว คงไม่ลืม.
ขณะเดียวกัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
“เรื่องการให้นักการเมืองเข้ามาแต่งตั้งทหารในระดับสูงได้นั้น ควรจะเข้าใจข้อเท็จจริงว่า
นายกฯ หรือ รัฐมนตรีกลาโหม ไม่ได้เป็น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของทหาร เพราะทหารมีในหลวง เป็นจอมทัพ อยู่แล้ว แต่นายก หรือ รมว.กห. มีอำนาจในการสั่งการทหารได้ ตามภารกิจของทหาร ทุกเรื่องเพราะทหารเป็นเครื่องมือของรัฐ ถ้าคำสั่งนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า “ถ้าคำสั่งไม่ถูกต้องทหารไม่ต้องทำก็ได้” เรื่องแบบนี้ก็เหมือนกับข้าราชการทั่วไป ที่ไม่ต้องปฏิบัติตาม นักการเมือง ถ้ามีคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ข้าราชการพลเรือน นั้นเลี่ยงลำบาก จึงใช้วิธี “ลาออก” แทน ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย เอาชัดๆ เช่น อธิบดีกรมที่ดิน ก็มีลาออกถึง2คน แล้ว ใครไม่ลาออกก็ติดคุกไป
สมมติว่า นักการเมืองเข้ามาแต่งทหารในระดับสูงได้ ซึ่ง คุณทักษิณก็เคยทำมาก่อน โดย พยายามวางเพื่อนร่วมรุ่นไว้ในหน่วยกำลังต่างๆ แม้กระทั่งผบ.ทบ. ก็เคยแต่งตั้งมาแล้ว แต่อยากถามกลับไปว่า มันป้องกันการรัฐประหาร จากทหารได้หรือ จริงๆหรือเปล่า ก็ป้องกันไม่ได้
การรัฐประหาร ทั้ง 2 ครั้งหลังนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะ นักการเมืองทุจริต ประชาชนจึงออกมาขับไล่ นักการเมืองก็ปราบประชาชนอย่างรุนแรง ทหารจึงต้องออกมายุติการฆ่ากันเองของประชาชน ถ้านักการเมืองดี “ทหารก็ไม่กล้าออกมาทำอะไรหรอกครับ” ดังนั้น ปัญหานี้จึงไม่ได้อยู่ที่ กฎหมายกลาโหมแต่อยู่ที่ “ตัวนักการเมือง” นั้นเอง
นอกจากนั้น กฎหมายกลาโหม มีขึ้นเพราะกลัวว่านักการเมืองจะเข้ามาแต่งตั้งทหารโดยไม่รู้จักตัวบุคคลจริงๆ เพราะจะทำให้สายการบังคับบัญชา เกิดสะดุดลงได้
ทหารที่จะเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ ผบ.พล ขึ้นมาจะถูกผู้บังคับบัญชาเฝ้าดู มาอย่างต่อเนื่องเป็น10 กว่าปี ทีเดียวครับ ว่ามีความสามารถ เป็นคนดี ฯลฯ จริงหรือเปล่า ถ้านักการเมืองเข้ามาแต่งตั้งมันก็จะยุ่งกันไปหมด แต่ถ้าเป็นทหารที่ไม่ใช่หน่วยงานหลัก นักการเมืองก็เข้ามาขอกันได้อยู่แล้วเป็นปกติครับ ทหารก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร
ที่สหรัฐฯ ทำไมทหารไม่กล้ารัฐประหาร ก็เพราะ ประธานาธิบดีเค้าไม่เข้ามายุ่งกับการแต่งตั้งทหาร สหรัฐฯ ถือว่าทหารเป็นอาชีพพิเศษที่ต้องสนับสนุนเต็มที่ เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ประเทศไหนทหารไม่เข้มแข็ง การต่อรองทางการค้าต่างๆ ก็ทำได้ลำบาก ยังมีอีกมากครับในภารกิจทางทหารของสหรัฐฯ ดังนั้น อย่าเอาไทยไปเปรียบเทียบอย่างเด็ดขาด เพราะทหารเค้าไม่ทำรัฐประหาร แต่ใช้สไนเปอร์ (Sniper) แทนครับ
อย่างไรก็ตาม ทหารจะต้องปฏิรูปตัวเองบ้างเหมือนกัน เช่น การลดนายพล ลงบ้าง การสร้างทหารที่ชำนาญด้านเทคโนโลยี่ขึ้นมา เป็นต้น”