xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” สรุปย่อ 5 ประเด็นแห่งคดีทำไมศาลยกฟ้องทุกข้อหา คดีการชุมนุมสนามบินของพันธมิตรฯ ชุดที่ 2?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(30 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะอดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก สรุปประเด็นสำคัญของคำพิพากษาคดีพันธมิตรฯ ชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 จำเลยกลุ่มที่ 2 ซึ่งศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้

เนื่องจากคดีการชุมนุมที่สนามบิน 2 แห่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พันธมิตรฯ) เมื่อปี 2551 มีจำเลยจำนวนมากจึงทำให้คดีดำเนินไปอย่างล่าช้า เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยสะดวกรวดเร็วขึ้น จึงแบ่งจำเลยเป็น 2 ชุด โดยชุดที่ 1 มีจำเลยทั้งสิ้น 31 ราย ชุดที่ 2 อีก 67 ราย รวมทั้ง 2 ชุดมีจำนวนจำเลย 98 ราย

สำหรับคดีชุดที่ 1 ซึ่งมีแกนนำพันธมิตรฯและแนวร่วมอื่นๆ จำนวน 31 ราย ศาลอาญาได้พิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 13 กับที่ 31 มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ประกอบมาตรา 83 ให้ปรับรายละ 2 หมื่นบาท ส่วนจำเลยอื่นที่ขึ้นเวทีปราศรัยไม่มีความผิดใดๆ

สำหรับคดีชุดที่ 2 จำเลยจำนวน 67 ราย ส่วนใหญ่เป็นพิธีกร ASTV, ศิลปิน, ผู้ปราศรัย และผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาวันนี้ วันที่ 29 มีนาคม 2567 โดยคดีนี้เป็นคดีที่ใช้เวลานานและค้างเกิน 10 ปี ซึ่งยาวนานที่สุดของศาลอาญา มีจำเลย 2 รายเจ็บป่วย (พล.ร.ต.มินทร์ กลกิจกำจร และนายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย) โดยศาลอาญาได้อนุญาตให้ใช้วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในการรับฟังการอ่านคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปอยู่กับจำเลยทั้ง 2 รายที่ป่วยแล้ว

นอกจากนั้น คดีนี้ยังมีตัวแทนผู้เสียหาย 9 ราย, อัยการ, สื่อมวลชน, ญาติพี่น้องจำเลย, และมีผู้ให้กำลังใจจำเลย (ซึ่งรวมถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นางรสนา โตสิตระกูล ฯลฯ) ได้มาร่วมฟังคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย โดยศาลอาญาได้ขอบคุณคู่ความและทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการมาฟังคำพิพากษาคดีนี้

โดยศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ พิจารณา 5 ประเด็นสำคัญ มีความยาวกว่า 51 หน้า เป็นข้อเท็จจริงยุติ 10 หน้าโดยศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลา 10.14 น. สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

ศาลพิจารณาตามคำร้องของจำเลยที่ 27 ก่อนว่าเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยศาลพิจารณาจากคำฟ้อง สถานที่ ตัวบุคคล ข้อหา จึงเห็นว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ หลังจากนั้นศาลได้พิจารณา 5 ประเด็นมีรายละเอียดสรุปคัดย่อคำพิพากษาดังนี้

ประเด็นแรก การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้ยาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆ และเป็นส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อประเด็นอื่นๆที่เหลือด้วย โดยศาลวินิจฉัยความตอนหนึ่งว่า

“เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การชุมนุมของจำเลยทั้ง 67 คน ในช่วงวันที่เกิดเหตุตามฟ้องเป็นการชุมนุมโดยชอบหรือไม่

เห็นว่าความเป็นมาของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงจำเลยทั้ง 67 คนนั้น มีสาเหตุจากกลุ่มพันธมิตรฯมาร่วมกันชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีตามลำดับ เพื่อคัดค้านการกระทำที่ทุจริตหลายประการของนายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี


ประเด็นที่สองโจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยที่ 15 ถึงที่ 25, จำเลยที่ 26 ถึงที่ 44 ขอให้ศาลลงโทษฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินก่อการร้าย และซ่องโจร อันเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 153/ 1, 153/3, 210 นั้น

ศาลเห็นว่าจำเลย ดังที่กล่าวมาข้างต้น และกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันชุมนุมเพื่อโต้แย้งคัดค้านการทำงานของรัฐบาลและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายจำเลยเชื่อว่ารัฐรัฐบาลกระทำเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องที่มีพฤติการณ์ทุจริตหลายประการ

โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยดังที่กล่าวกระทำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพันธมิตรหรือ กลุ่มของจำเลยเอง

หากแต่จำเลยดังที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อว่ารัฐบาลในขณะเกิดเหตุมีพฤติการณ์ทุจริต และไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศ อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 153/ 1, 153/3, 210

ประเด็นที่สาม โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่าจำเลยทั้ง 67 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายบ้านเมือง การชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง บุกรุก ทำให้ทางสาธารณะที่ขึ้นลงอากาศยานน่าจะเกิดอันตราย ทำให้การสื่อสารสาธารณะทางไปรษณีย์ ทางวิทยุขัดข้อง ทำให้ร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการ โจทก์จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 67 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 229, 235, 358, 362, 364, 365 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ(2) นั้น

ศาลเห็นว่าคดีนี้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานรวมสี่ครั้ง โดยอ้างพยานบุคคลรวม 964 ปาก แต่นำสืบพยานบุคคลได้เพียง 96 ปาก

ซึ่งจากคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งหมดที่ปรากฏ ได้ความแต่เพียงว่า มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น โดยตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า จำเลยทั้ง 67 ได้ยุยงปลุกปั่น ให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายให้เกิดการโกลาหล ชุลมุนขึ้นในบริเวณที่เกิดเหตุอย่างชัดแจ้งแต่อย่างใด

โดยข้อเท็จจริงกับปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกอุดร แก้วสุขศรี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองในขณะเกิดเหตุว่า ความวุ่นวายที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเกิดขึ้น 4 ครั้ง

โดยครั้งแรกเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในบริเวณที่มีการชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 จนกลุ่มผู้ชุมนุมไล่พร้อมขว้างปาสิ่งของต่างๆ ในขณะที่ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ก็เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ในบริเวณรอบการชุมนุมและในที่ชุมนุมเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 1 คน

เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการชุมนุมของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ก็สืบเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการเข้าไป ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวกั้นผลักดันเอาไว้ จึงเกิดการ กระทบกระทั่งกันจนได้รับบาดเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่ายอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมแต่ละคน

ซึ่งในการต่อสู้ตอบโต้เจ้าหน้าที่ของผู้ชุมนุมแต่ละคนดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 67 คนใดเป็นผู้สั่งการหรือใช้ให้กระทำการต่างๆ ตามที่กล่าวมาในฟ้อง

เมื่อนายสมัครเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศตนอย่างชัดแจ้งต่อสื่อสาธารณะว่า ตนเป็นตัวแทนของนายทักษิณ ประสงค์ที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 237 และมาตรา 309 เพื่อช่วยเหลือนายทักษิณและพวกพ้องให้พ้นจากการตรวจสอบในคดีทุจริตหลายคดี ทำให้มีประชาชนหลายฝ่ายไม่พอใจ

นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลนายสมัครได้ลงนามข้อตกลงให้กัมพูชานำที่ดินรอบเขาพระวิหารไปขึ้น ทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว

เมื่อนายสมชายได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร ประชาชนหลายภาคส่วนเชื่อว่านายสมชาย จะยังคงดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวและมีนโยบายบริหารประเทศที่มีพฤติกรรมทุจริตในเชิงนโยบายเช่นเดียวกับนายทักษิณ เนื่องจากนายสมชายมีฐานะเป็นน้องเขย

ซึ่งหากมีการแก้ไขมาตรา 237 สำเร็จ เป็นผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง สามารถกลับมาลงเลือกตั้งได้

และหากมีการแก้ไขมาตรา 309 สำเร็จ เป็นผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ถูกยกเลิกไป

ซึ่งก่อนหน้าหน้านั้นนายทักษิณได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว 2 แห่ง คือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) โดยแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ทำให้ทรัพย์สินของประเทศซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกลายเป็นของบริษัทมหาชน หมายถึงเอกชนเข้ามาถือหุ้นในองค์กรได้

ซึ่งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์รวม 40 แห่ง คัดค้านนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542 แต่นายทักษิณมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆให้เป็นบริษัทมหาชนอีก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงความเห็นว่า การแปรรูปดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่ประเทศ จึงมาเข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล


นับว่านโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วงที่เกิดเหตุ สร้างความไม่พอใจและความหวาดระแวงเกี่ยวกับการทุจริตหลายกรณีแก่ประชาชนหลากหลายอาชีพ หลายภาคส่วน จึงมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมกันชุมนุมเพื่อโต้แย้งคัดค้านการทำงานบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น

ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. พบว่า นายทักษิณ นายกรัฐมนตรี มีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแล และอัยการสูงสุดได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่งศาลพิพากษาว่านายทักษิณซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้รับมอบความไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่กลับกระทำความผิดฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญยิ่งนี้ จึงให้ลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.10/2550

และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ในขณะนายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือบริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยกับพวกได้รับประโยชน์ในผลของการประกอบกิจการ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นการกระทำอันเข้าลักษณะของการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นที่มีความทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ จึงเป็นความผิดให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.4/2551

และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า นายทักษิณ นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมมีมติในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์ในการดำเนินงานซึ่งเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอันเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่านายทักษิณมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ลงโทษจำคุก 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.10/2552

และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดการดูแลเกี่ยวกับโทรคมนาคมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาษีของกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้ามีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการสั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งศาลคำพิพากษาว่า นายทักษิณมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมให้ ลงโทษจำคุก 5 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.5/2551

และอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินของนายทักษิณ ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า นายทักษิณปฎิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีกระทำการต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือจนได้รับประโยชน์ที่มีผลมาจากการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงให้เงินจำนวนกว่า 46,373 ล้านบาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.1/2553“


หลังจากนั้นศาลได้อ่านเพิ่มอีกความตอนหนึ่งด้วยว่า

”นายทักษิณเดินทางหลบหนีออกไปนอกราชอาณาจักรกว่า 15 ปี แล้วเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ขณะมีอายุ 74 ปี เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา โดยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณชินวัตรยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ… ด้วยเพราะยอมรับผิดและสำนึกในการกระทำความผิด

…ซึ่ง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัย รถโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณชินวัตร จากเหลือจำคุก 7 ปี 11 เดือน 21 วัน ให้เหลือจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา… ”

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พันตำรวจโททักษิณมีนโยบายบริหารประเทศที่มีพฤติกรรมทุจริตในเชิงนโยบายสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ตรงตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และจำเลยทั้ง 67 คน ที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล และโต้แย้งคัดค้านการทำงานบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น

โดยศาลได้หยิบยกสิทธิ เสรีภาพ ที่ได้มีการบัญญัติรับรองเอาไว้ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง, มาตรา 45 วรรคหนึ่ง, มาตรา 63

ดังนั้นประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อใช้สิทธิ์เรียกร้องหรือเพื่อแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและปราศจากอาวุธ

ศาลพิจารณาคดีได้ความว่า มีการชุมนุมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 เรื่อยมา โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร่วมชุมนุมมีอาวุธและก่อความวุ่นวายขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ร่วมชุมนุมย่อมต้องถูกห้ามการชุมนุมและถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก

สำหรับการชุมนุมในช่วงก่อนเกิดเหตุที่มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ดี การชุมนุมในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ก็ดี ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 67 และผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ ก่อความไม่สงบอย่างไร วัตถุประสงค์ของการชุมนุมก็เพื่อขัดขวางมิให้นายสมชาย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจัดประชุมคณะรัฐมนตรีที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตลอดจนเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้

ประกอบกับแกนนำการชุมนุมและพิธีกรที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีในที่ชุมนุม ได้กล่าวเน้นย้ำต่อผู้ร่วมชุมนุมตลอดมาว่า ให้ชุมนุมด้วยความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และห้ามนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม จึงไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา

ซึ่งหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส แขนขาด ขาขาด และมีผู้เสียชีวิตนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แล้วรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ตามรายงานการตรวจสอบที่ 519/2551 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า

การปฎิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจในการสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นอันเข้าข่ายการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งปรากฏต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนและไม่เหมาะสม เจ้าพนักงานตำรวจใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดการปั่นป่วนชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเป็นการทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม ดังนี้จึงถือได้ว่า กลุ่มพันธมิตรและผู้ชุมนุมรวมถึงจำเลยทั้ง 67 คน มีเสรีภาพในการชุมนุมตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้


เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพยานมานำสืบแสดงออกให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การชุมนุมที่ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของจำเลยทั้ง 67 แต่ละคนนั้น ก่อความวุ่นวายและมีอาวุธอย่างไรบ้าง แตกต่างจากการชุมนุมของพันธมิตรที่ชอบตามกฏหมายรัฐธรรมนูญในครั้งก่อนอย่างไร คดีจึงฟังได้ว่า การชุมนุมของจำเลยทั้ง 67 ในช่วงวันที่เกิดเหตุตามฟ้องเป็นการชุมนุมโดยชอบตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ“

จากการถอดข้อมูลแสดงภาพและคำปราศรัยของจำเลยทั้ง 67 คน ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 67 คน ปรากฏตัวที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บางคนทำหน้าที่เป็นโฆษก เป็นพิธีกรบนเวที กล่าวปราศรัย ร้องเพลง บางคนทำหน้าที่เป็นหัวหน้าการ์ดกลุ่มพันธมิตร ใกล้ชิดแกนนำนั้น เห็นว่า ลำพังเพียงการกระทำของจำเลยทั้ง 67 คนที่ปรากฏดังกล่าว ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ส่วนกรณีผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเข้ามาที่ห้องประชุมของคณะรัฐมนตรีอาคารวีไอพีท่าอากาศยานดอนเมือง ก็ไม่ปรากฏการทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด

สำหรับ ภายหลังจากมีการยุติการชุมนุมของพันธมิตรแล้ว ได้มีคณะทำงานชุดตรวจสอบท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ได้ใช้เวลาตรวจสอบ 2 วัน ผลการตรวจสอบพบว่า ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ เนื่องจากอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยการเดินอากาศไม่ได้รับความเสียหาย และมีความปลอดภัยในการเดินอากาศดังกล่าวเพียงพอตามมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินอากาศ

สำหรับประเด็นมีผู้ชุมนุมบางกลุ่มพยายามจะเข้ามาในหอควบคุมการจราจรทางอากาศยาน แต่เมื่อพยานโจทก์ ผู้ดูแลความปลอดภัยของหอการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้แจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าอาจจะกระทบกับอุปกรณ์เกี่ยวกับการบินที่มีความละเอียดซับซ้อน ผู้ชุมนุม เมื่อเข้าใจแล้วได้ออกไปจากพื้นที่หอบังคับการบิน โดยไม่ได้ทำให้อุปกรณ์เกี่ยวกับวิทยุการบินและอุปกรณ์อื่นๆ ภายในพื้นที่ได้รับความเสียหาย

สำหรับคำเบิกความของผู้อำนวยการแขวงทางกรุงเทพฯ ที่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมปิดกั้นสะพานกลับรถบนถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณทางเข้าคลังสินค้าและอาคารภายในประเทศของ ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ข้อเท็จจริงพบว่าประชาชนสามารถใช้สะพานกลับรถอีกแห่งหนึ่งบริเวณหน้าฐานทัพอากาศซึ่งอยู่ใกล้กันแทนได้

สำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยอมรับว่า หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาภายในอาคารผู้โดยสารแล้ว พนักงานยังทำงานได้ตามปกติ แต่เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย จึงมีคำสั่งให้พนักงานไปทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติการภาคพื้น และต่อมามีคำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่อาคารสำนักงานใหญ่

ตลอดระยะเวลาในการทำงาน กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งด่านตรวจหรือสกัดกั้นการทำงานแต่อย่างใด และเมื่อการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมยุติลง ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แล้วรุ่งขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2551 พนักงานสามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ

สำหรับผู้เสียหายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นั้นพบว่า มีสิ่งของที่รับฝากตกค้างล่าช้าบ้าง แต่ทรัพย์สินอื่นเช่นตั๋วเงินสด ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน ไปรษณียากรอยู่ครบถ้วน ไม่มีอุปกรณ์ใดได้รับความเสียหาย กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เข้ามาภายในศูนย์ไปรษณีย์


จากข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ปรากฏชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมและจำเลยทั้ง 67 ไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและผู้เสียหายแต่อย่างใด

ดังนั้นจำเลยทั้ง 67 คนจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นบ้านเมือง บุกรุก ทำให้ทางสาธารณะที่ขึ้นลงท่าอากาศยานน่าจะเกิดอันตราย ทำให้เกิดการสื่อสารสาธารณะทางไปรษณีย์ ทางวิทยุขัดข้อง ทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 229, 235, 358, 362, 364, 365 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ(2)

ประเด็นที่สี่ โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 15 ถึงที่ 44 ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวาง ข่มขืนใจและหน่วงเหนี่ยวกักขังเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 139, 140, 309, 310 นั้น

พยานโจทก์ที่มาเบิกความทั้ง 3 ปากมิได้ยืนยันว่า ตัวการกระทำการข่มขืนใจห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวกักขังที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คือจำเลยที่ 15 ถึงที่ 44 เป็นผู้สั่งการอย่างชัดแจ้ง หรือใช้ให้ผู้ชุมนุมกระทำการดังกล่าว หากแต่เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนบางกลุ่ม ที่ตอบโต้เจ้าพนักงานภายหลังจาก ที่เจ้าพนักงานพยายามผลักดันควบคุมไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น

พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนัก เพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยที่ 15 ถึงที่ 44 เป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ข่มขืนใจผู้อื่นและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 139, 140, 309, 310

ประเด็นที่ห้า จำเลยที่หนึ่งถึงที่ 62 และจำเลยที่ 66 กระทำความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 มาตรา 9,10,18 หรือไม่?

ศาลได้อธิบายความถึงที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ซึ่งมาจากการลงประชามติร้อยละ 57.8 เห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สืบเนื่องมาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับเดิม พ.ศ. 2540 เมื่อมีการบังคับใช้แล้วปรากฏว่าเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคอรัปชั่นขนาดใหญ่ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผู้นำประเทศสามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ละเลยต่อเสียงประชาชนในสังคม จนสร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยและก่อตัวเป็นวิกฤติการเมือง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 จึงมีข้อห้ามต่างๆที่เป็นพฤติกรรมของนายทักษิณ นายกรัฐมนตรีกับพวก ที่ทุจริตกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร การทำเอฟทีเอต้องฟังความเห็นจากรัฐสภา เข้มงวดต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจริยธรรมของนักการเมือง สร้างมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นต้น

ซึ่งต่อมาภายหลังปรากฏว่าคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณกับพวกเป็นจำเลยต่อศาล ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่านายทักษิณ นายกรัฐมนตรีกับพวกมีความผิดในหลายคดี

สภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 4 ประการ คือ 1. คุ้มครอง ส่ง ขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน 3. การเมืองความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม 4. ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ


ศาลได้พิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มีบทบัญญัติการรับรองและคุ้มครองที่เกี่ยวกับความเสมอภาค เสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม โดยศาลได้อธิบายบทบัญญัติตามมาตรา 26, มาตรา 30, วรรคหนึ่ง มาตรา 45, วรรคหนึ่ง และมาตรา 63

โดยศาลเห็นว่า ในช่วงเกิดเหตุนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ครอบคลุมพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นกฎหมายมหาชน อันเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอาญาแผ่นดินหรือความผิดต่อแผ่นดิน ที่ผลแห่งการกระทำความผิดย่อมกระทบกระเทือนเสียหายต่อมหาชนส่วนรวม ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของรัฐ

ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ต้องเป็นไปในทางที่ไม่แข็งกระด้าง สามารถยืดหยุ่น ปรับให้สอดคล้องและเป็นธรรมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ โดยคำนึงถึงความยุติธรรม โดยไม่ใช้ไปในทางที่มิชอบ หรือตามอำเภอใจ โดยปราศจากเหตุผลของผู้มีอำนาจ ซึ่งนอกจากจะขัดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองและรับรองไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวมด้วย

ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 62 และจำเลยที่ 66 ซึ่งเป็นประชาชนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน ดารา นักแต่งเพลง นักดนตรี นักร้อง นักแสดง สื่อมวลชน บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ ผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ ทนายความ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ประธานมูลนิธิ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แพทย์ วิศวกร เกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการครู ข้าราชการทหาร ข้าราชการบำนาญ อดีตเอกอัครราชทูต นักการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรี เจ้าของอู่ซ่อมรถ พ่อค้า นักธุรกิจ กรรมการบริษัท ประธานบริษัท และที่ปรึกษาบริษัทเอกชนที่รวมตัวของตนเอง ในภาวะบ้านเมืองขาดธรรมาภิบาลไร้ซึ่งหลักนิติธรรม เพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์สอบไปในทางทุจริตคอรัปชั่น สร้างความแตกแยกในสังคม และแทรกแซงองค์กรอิสระ

โดยเชื่อว่านายสมชายจะยังคงดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีนโยบายบริหารประเทศที่มีพฤติกรรมทุจริตในเชิงนโยบายเช่นเดียวกับนายทักษิณ เนื่องจากนายสมชายมีฐานะเป็นน้องเขย

ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะเป็นผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ถูกยกเลิกไป อันเป็นการช่วยเหลือพันตำรวจโททักษิณกับพวกื จากการตรวจสอบของ คตส. เกี่ยวกับคดีทุจริตหลายคดี


ซึ่งต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ในระหว่างการชุมนุม ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 237 ที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นรองหัวหน้าพรรค เนื่องจากมีการทุจริตการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทำให้นายสมชาย ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที ตรงตามเจตนารมณ์ในการพิสูจน์ความจริงของกลุ่มผู้ชุมนุม

จนกระทั่งการชุมนุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 62 และ จำเลยที่ 66 ได้ยุติลง และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกไปจากท่าอากาศยาน ดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนหมดโดยสงบในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพร่วมชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ โดยไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างพิจารณาคดีนี้ที่ยาวนานถึง 10 ปี ข้อเท็จจริงตามเจตนารมณ์ในการชุมนุมทางการเมืองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 62 และจำเลยที่ 66 ได้รับการยืนยันอีกครั้ง เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีโทษจำคุก ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา โดยยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ยอมรับผิดในการกระทำและมีความสำนึกในความผิด

ดังนี้ แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่หก 62 และจำเลยที่ 66 จะกระทบกระเทือนต่อประชาชนผู้ใช้ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบ้าง แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 44, จำเลยที่ 53 ถึงที่ 62, จำเลยที่ 66 จึงไม่มีความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 10, 18 พิพากษายกฟ้องคืนของกลาง

บันทึกสรุปย่อคดีโดย
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
จำเลยที่ 18
30 มีนาคม 2567

อ้างอิง
ผู้จัดการออนไลน์, คำพิพากษาศาลอาญาฉบับเต็มหมายเลขดำ อ.1087 /2556 วันที่ 29 มีนาคม 2567
https://mgronline.com/politics/detail/9670000005278


กำลังโหลดความคิดเห็น