xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” สรุป 7 ประเด็นสำคัญ ทำไมศาลพิพากษา “ปรับ 2 หมื่นบาท” คดีกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมสนามบิน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” สรุป 7 ประเด็นสำคัญ ศาลพิพากษาคดีพันธมิตรฯ ชุมนุมที่ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ เมื่อปี 51 ชี้เป็นการชุมนุมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบรัฐบาลที่มีการทุจริต ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสนามบิน ไม่ประทุษร้ายใคร จึงไม่มีความผิดฐานก่อการร้าย ล้มล้างการปกครอง หรือมั่วสุมกันกระทำผิด แต่การชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากทำให้เกิดความไม่สะดวก จนสนามบินต้องปิดให้บริการ จึงมีความผิดฐานบุกรุก และผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งปรับแกนนำ 13 คน คนละ 20,000 บาท ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯ จะยื่นอุทธรณ์ 2 ข้อหาดังกล่าวนี้ต่อไป

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดการชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 โดยได้ตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และบุกรุก สั่งปรับแกนนำ 13 คน คนละ 20,000 บาท ส่วนข้อหาก่อการร้าย และข้อหาอืื่นๆ ให้ยกฟ้อง ล่าสุดวันนี้(18 ม.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะอดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สรุป 7 ประเด็นสำคัญของคำพิพากษาดังกล่าว ดังนี้

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เป็นวันที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง เมื่อศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอาญา ที่ ศาลรัชดา ในคดีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ในปี 2551


โดยในคดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก จึงแบ่งจำเลยเป็น 2 ชุด โดยชุดที่ 1 มีจำเลยทั้งสิ้น 31 คน และจำเลยชุดที่ 2 อีก 67 คน รวมทั้ง 2 ชุดมีจำนวนจำเลย 98 คน โดยคดีชุดที่ 1 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 17 มกราคม 2567 ส่วนคดีชุดที่ 2 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพาษาวันที่ 29 มีนาคม 2567

ด้วยเพราะมีการดำเนินคดีหลายข้อหาที่มีบทลงโทษรุนแรงสูงสุดคือประหารชีวิต แต่กลับมีจำเลยจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนการพิจารณาคดีได้ใช้เวลาดำเนินมาอย่างยาวนานหลายปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเวลานานถึง 15 ปีนับแต่วันเกิดเหตุกว่าจะมาถึงการอ่านคำพิพากษาศาลอาญา จนจำเลยบางคนได้เสียชีวิตไปแล้ว เช่น นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายศรัณญู วงศ์กระจ่าง นายเติมศักดิ์ จารุปราณ นอกจากนั้นหลายคนเจ็บป่วยและมีสุขภาพอ่อนแอตามวัย ผู้อาวุโสบางคนต้องนั่งรถเข็นมาศาลแล้ว เช่น นายพิภพ ธงไชย และ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ

โดยในวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาชุดที่ 1 ได้ปรากฏว่าจำเลยป่วยนอนอยู่ที่โรงพยาบาล 2 คน คือ พลตรี จำลอง ศรีเมือง และนานเทิดภูมิ ใจดี โดยศาลอาญาและกรมราชทัณฑ์ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงอนุญาตรับฟังการอ่านคำพิพากษาด้วยวีดึโอคอล

ซึ่งจำเลยทั้งหมดไม่เคยหลบหนี และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ


ข้อสำคัญคือศาลอาญาพิพากษาจากคำเบิกความและคำซักค้านของ “พยานโจทก์” จำนวนมากเป็นสาระสำคัญ

สรุปศาลอาญาได้พิพากษาจำเลยคดีชุดที่ 1 อันมีสาระสำคัญ คือ

1.ศาลฯ เห็นว่าคดีนี้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ เพราะเป็นคนละพื้นที่ คนละเงื่อนไขเวลา และคนละสถานการณ์ ความว่า

“การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้กับการกระทำตามที่ฟ้องในคดีก่อนนั้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันก็ตาม แต่วันเวลากระทำความผิด สถานที่เกิดเหตุและเจตนาในการกระทำความผิดนั้นแตกต่างกัน ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามสิบเอ็ดในคดีนี้กับคดีก่อนก็อาจเป็นความผิดคนละกระทงต่างกรรมต่างวาระกันได้ ดังนั้น คดีดโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”

2.ศาลฯ ได้ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นทั้งเรื่องการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปกป้องอธิปไตยของชาติ คัดค้านนโยบายการบริหารของรัฐบาล โดยศาลพิเคราะห์ความตอนหนึ่งว่า

“เจตนาอันแท้จริงในการชุมนุมคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและสังคมส่วนรวมตามเข้าใจของกลุ่มผู้ชุมนุมอันแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ชุมนุมรวมถึงกลุ่มจำเลยดังกล่าว ซึ่งเป็นสิทธิในการแสดงออกของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพื่อแสดงความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ โดยต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและปราศจากอาวุธ”

3.ศาลได้อธิบายถึงคำให้การและการซักค้านของ “พยานโจทก์” จำนวนมากยืนยันว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีการประทุษร้ายใคร พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่แลนด์ไซด์ไม่ได้กระทบต่อการบินใดๆ เมื่อยุติการชุมนุมก็ไม่เกิดความเสียหายใดๆ จนสามารถเปิดการบินได้เป็นปกติในวันรุ่งขึ้น โดยศาลฯ พิพากษาอ้างอิงตามคำเบิกความของพยานโจทก์ เช่น

นายกฤติยา ก้อนทอง ผู้อำนวยการส่วนพาณิชย์และการเงิน ประจำท่าอากาศยานดอนเมืองพยานโจทก์ เบิกความว่า

“…การชุมนุมที่ดอนเมืองไม่กระทบต่อผู้โดยสารเพราะในเวลานั้นผู้โดยสารระหว่างประเทศซึ่งอยู่ใกล้กันไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการ ส่วนอาคารผู้โดยสารภายในประเทศอยู่ห่างออกไประมาณ 1 กิโลเมตร และก่อนมีคำสั่งหยุดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ร้านค้าพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ…”


เรืออากาศโทวิศิษฐ์ อิ้วประภา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง พยานโจทก์เบิกความบางตอนว่า

“สถานการณ์การชุมนุมดำเนินการไปตามปกติไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้บุกรุกเข้าไปในห้องทำงานของพนักงานหรือผู้บริหารแต่อย่างใด และในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนเป็นเหตุให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก็ทยอยออกจากสนามบินดอนเมือง และในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 กลุ่มผู้ชุมนุมก็เดินทางออกจากสนามบินดอนเมืองไปทั้งหมด จากนั้นจึงได้มีการตรวจสอบความเสียหายและระบบสายพาน ระบบเอกซเรย์ ระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบิน อุปกรณ์อื่นเกี่ยวกับลานจอดท่าอากาศยานและหลุมจอดอากาศยานว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน”

เรืออากาศโทภาสกร สุระพิพิธ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง พยานโจทก์เบิกความว่า

“ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ห้ามหรือขัดขวางผู้โดยสารให้เข้าออกอาคาร แต่เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจึงทำให้ผู้โดยสารเดินทางเข้าออกอาคารไม่สะดวก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ส่วน Land Side”

นอกจากนั้นยังมีพยานโจทก์อีกหลายคนที่ยืนยันในทิศทางเดียวกัน เช่น ว่าที่เรือโท อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง พยานโจทก์เบิกความว่าหลังยุติการชุมนุมไม่พบวัตถุระเบิดหรือวัตถุอันตราย

นายวันชัย เกิดเรือง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานดอนเมือง พยานโจทก์เบิกความว่า เป็นการชุมนุมด้วยความสงบไม่ได้ขู่เข็ญหรือประทุษร้ายบุคคลใด

พันตำรวจโท ประสิทธิ์ แดงเนียม พยานโจทก์ ตำรวจสืบสวนหาข่าวพยานโจทก์ เบิกความว่า ผู้ชุมนุมเดินเข้าไปทั่วบริเวณชั้น 4 ในพื้นที่ Land Side บริเวณเคาน์เตอร์จุดเช็คอินผู้โดยสารของสายการบินต่างๆ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมดังกล่าวได้ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินใดๆ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

4.ศาลอาญายืนยันว่าการตรวจสอบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย และเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ความตอนหนึ่งในคำพิพากษาว่า

“ประเด็นการกล่าวหานายสมัครและนายสมชายว่า เป็นตัวแทนของนายทักษิณที่บริหารประเทศโดยมีการทุจริตจำนวนมากนั้น ทางนำสืบจำเลยได้ความว่า แกนนำผู้ชุมนุมได้กล่าวอ้างโดยหยิบยกข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะกรรมการ คตส. ที่ตรวจสอบพบว่า ช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศมีการทุจริตหลายโครงการและพบการกระทำผิดตามกฎหมายด้วย กรณีจึงมิใช่เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ แต่อย่างใด…

“…ดังนั้น การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ จึงกอปรด้วยเหตุและผล ตลอดจนที่มาของการรวมตัวชุมนุมกันดังกล่าว ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ย่อมกระทำได้หากชุมนุมกันด้วยสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรง ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองไว้ แม้การชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะทำให้เกิดการกีดขวางทางจราจรบ้างก็เป็นเรื่องปกติของการชุมนุมซึ่งประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ย่อมจะทำให้การสัญจรของประชาชนบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ปรากฏว่าระหว่างการชุมนุมและเคลื่อนขบวนมีเหตุความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุม

“ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่กล่าวมา จึงถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรง เป็นการการชุมนุมโดยอาศัยสิทธิของประชาชนอันมีพึงมีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

ศาลอาญาจึงตัดสินว่า จำเลยทั้ง 31 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ไม่มีความผิดฐานกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในการล้มล้างรัฐบาลหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน) ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 (ไม่ใช่การมั่วสุมในกระทำความผิด) ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 (ไม่เป็นการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนเพื่อกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด) ไม่ใช่การก่อการร้าย จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 และ 135/3 ไม่ปรากฏว่ามีการทำลายหรือทำให้เสียหายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ(2)

ศาลอาญาได้พิพากษาอีกด้วยว่า

“ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยคนใดในจำเลยทั้ง 31 คน ที่เป็นผู้กระทำการอันเป็นอันตรายใดๆ ให้สื่อสารสาธารณทางวิทยุขัดข้องหรือข่มขู่พนักงานความปลอดภัยของผู้เสียหายที่ 2…​พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยทั้ง 31 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลฎหมายอาญามาตรา 229, 235,309, 310 และมาตรา 358“


5.ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยบางคนข้อหาบุกรุก โดยศาลได้สืบพยานโจทก์และระบุในคำพิพากษาว่า

“แม้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเป็นการชุมนุมในพื้นที่ Land Side ก็ตาม แต่ก็ส่งผลให้เกิดข้อขัดข้องในการให้บริการของท่าอากาศยาน จนต้องมีคำสั่งหยุดให้บริการชั่วคราวของท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเหตุให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย

ซึ่งแม้พยานปากดังกล่าวจะเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 และที่ 14 ว่า ขณะเกิดเหตุ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล้วนชุมนุมกันอยู่ในพื้นที่นอกเขตการบิน หรือพื้นที่ Land Side เท่านั้นก็ตาม แต่พยานได้เบิกความตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามติงว่า แม้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเป็นการชุมนุมในพื้นที่ Land Side ก็ตาม แต่ก็ส่งผลให้เกิดข้อขัดข้องในการให้บริการของท่าอากาศยาน จนต้องมีคำสั่งหยุดให้บริการชั่วคราวของท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเหตุให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งแล้วดังนี้

เห็นว่าแม้พยานโจทก์หลายปากจะเบิกความสอดคล้องเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรนั้น ปักหลักชุมนุมกันในส่วนที่เป็นพื้นที่นอกเขตการบินหรือที่เรียกว่า Land Side ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้ก็ตาม

แต่ลักษณะของการชุมนุมที่มีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากร่วมเดินทางเข้าไปในบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยาน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวตามหลักสากลถือเป็นสถานที่ควบคุมที่ต้องมีความปลอดภัยสูงในการบริหารจัดการ แม้พยานโจทก์จะเบิกความเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงปักหลักขุมนุมกันในส่วนที่เป็นพื้นที่นอกเขตการบินหรือที่เรียกว่า Land Side เท่านั้น โดยมิได้เข้าไปปักหลักชุมนุมในเขตการบินหรือที่เรียกว่า Air Side ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามก็ตาม

แต่ภายใต้ข้อจำกัดของสถานที่อันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น การเข้าไปในพื้นที่ของท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากเช่นนี้ย่อมเล็งเห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ผู้เสียหายในการบริหารจัดการสนามบิน เนื่องจากในแต่ละวันมีประชาชนมาติดต่อและใช้บริการในสนามบินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการของประชาชนด้วย

การกระทำของกลุ่มจำเลยถือได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขแล้ว….

…พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 13 เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ ถึงที่ 13 กับที่ 31 จึงมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยอื่นที่ขึ้นเวทีปราศรัยไม่มีความผิดใดๆ“


6. ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งพระราชการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ศาลพิพากษาการออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพระราชการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งให้ออกจากพื้นที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยศาลพิพากษาเอาไว้ว่า

“กรณีดังกล่าวต้องด้วยกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ดังนั้น นายกรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจออกข้อกำหนดดังกล่าวได้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548… เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินให้สามารถกระทำได้โดยรวดเร็ว ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 13 กับที่ 31 ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 กับที่ 31 จึงมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18”


7.ศาลเห็นว่าจำเลย 13 คนกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้เลือกบทลงโทษที่หนักสุด ความผิดตามพระราชการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความว่า

“พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 13 กับที่ 31 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 362 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 13 กับที่ 31 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิด ต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ปรับคนละ 20,000 บาท”

ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้คดีความที่ยาวนานกว่า 10 ปี แม้จะถูกกลั่นแกล้งยัดข้อหาเกินจริงจำนวนมาก แต่ก็ได้อุทิศทั้งเวลา และสติปัญญาในการต่อสู้ทุกแง่มุมทั้งในแง่กฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่ได้มาจากการมีเส้นสายหรือการใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น

อนึ่ง แม้แต่คำพิพากษาลงโทษโดยไม่มีจำคุกมีแต่การปรับเท่านั้น แต่จำเลยแม้แต่ทนายหรือหลายท่านก็อาจจะอุทธรณ์ในประเด็นข้อหาบุกรุก เพราะเห็นว่าไม่สามารถนำมาใช้กับพื้นที่สาธารณะได้ อีกทั้งการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะเป็นเสรีภาพที่ถูกรับรองเอาไวในรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีกฎหมายในการจำกัดขอบเขตหรือการลงโทษเป็นการเฉพาะ ส่วนข้อหาการกระทำความผิดต่อข้อกำหนด พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื่องด้วยเพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมาย ซึ่งจะแจ้งความคืบหน้าในโอกาสต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
18 มกราคม 2567




กำลังโหลดความคิดเห็น