สบช่อง! “ธนารักษ์” เวียนทั่วประเทศ ผุดแนวทางให้สถานที่ราชการ-ที่ราชพัสดุ “ก่อสร้างปั๊มชาร์จรถ EV” โครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ สนองนโยบายหน่วยราชการใช้งาน-เพิ่มกำลังผลิตรถ EV ให้ถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2573 เผย ให้อำนาจราชการ เจ้าของที่ราชพัสดุ “จัดสวัสดิการให้เช่า” ก่อสร้างปั๊มชาร์จ แต่ให้แยกมิเตอร์ผู้ชำระค่าไฟฟ้าเอง
วันนี้ (20 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าตามนโยบายการปรับเปลี่ยนให้หน่วยราชการ ทั่วประเทศหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในส่วนราชการ
ภายหลังพบว่า มีข้าราชการ และประชาชน นำรถ EV มาชาร์ตไฟฟ้าในสถานที่ราชการ เนื่องจากสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะไม่เพียงพอ
ดังนั้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานตามความจำเป็นเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ
รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ การใช้งานรถ EV
ล่าสุด กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้เวียนหนังสือถึงหลายหน่วยราชการ ทั่วประเทศ เป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ
เพื่อติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า/สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า รายละเอียดตามหนังสือ กรมธนารักษ์ ที่ กค 0312/ว 8 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2567
หนังสือระบุว่า ด้วยปัจจุบัน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเพื่อสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality
ผ่านการส่งเสริมการผลิตและการใช้ ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle)
โดยกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตยานยนต์ภายในประเทศภายในปี 2573
และกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุน การก่อสร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานตามความจำเป็นเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ
สำหรับ แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุเพื่อติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า/สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับ ยานพาหนะไฟฟ้า กรมธนารักษ์ ระบุว่า
1. หากเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ ในทางราชการในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และ อำนาจของส่วนราชการ และไม่มีลักษณะเป็นการนำที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์ ในทางที่เกิดรายได้
การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ในทางราชการตามกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563
2. หากเป็นการ “จัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ" เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547
การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ เพื่อประโยชน์ในทางราชการตาม กฎกระทรวงการใช้ ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2563
“ทั้งนี้ หน่วยงานจะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า แยกต่างหากเพื่อให้ข้าราชการผู้รับบริการเป็น ผู้ชำระค่าไฟฟ้าเอง”
3. หากเป็นการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547
และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2548
“ถือเป็นการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยวิธีการเช่า โดยหน่วยงานจะต้องจัดทำโครงการเสนอต่อ คณะกรรมการสวัสดิการภายในส่วนราชการ เพื่อขอความเห็นชอบในเบื้องต้นก่อน”
เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้เสนอกรมธนารักษ์ พิจารณาโครงการและจัดให้เช่าเพื่อจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจต่อไป
อนึ่ง ในการดำเนินการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า/สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับ ยานพาหนะไฟฟ้าในที่ราชพัสดุดังกล่าว หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย.