xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำ คปท.ซัด “บิ๊กทิน” เป็น รมว.กห.ไม่รู้เรื่อง “ทักษิณ-ฮุนเซน” วางแผนอะไรกัน “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ห่วงรีบร้อน “MOU 44”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร และ สมเด็จฮุนเซน จากแฟ้ม
ไม่ไว้ใจ! “แกนนำ คปท.” ชี้ “ฮุน มาเนต” มาไทย “อุ๊งอิ๊ง” เยือนกัมพูชา อ้างเจรจาผลประโยชน์ 2 ประเทศ “บิ๊กทิน” เป็นรมว.กห.ไม่รู้เรื่อง วางแผนอะไรกัน “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ห่วง รีบร้อน “MOU 44” นักการเมืองเห็นแก่ได้ ทุรยศแผ่นดิน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวเรื่อง บิ๊กทิน คลังแสง ระบุว่า

“ท่าน รมต.กลาโหม บอกว่า เรื่องเขตแดนไทย กัมพูชา ทหารก็รักษาเขตแดน ตามข้อสรุปของกระทรวงการต่างประเทศ

ที่จริง ข้อสรุปสำคัญ คือ สนธิสัญญาฝรั่งเศส-ไทย ปี พ.ศ.2450 ครับท่าน ในข้อ 2 ระบุชัดเจน เรื่องดินแดน เกาะกูด

ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ที่ไม่ใช่การทับซ้อนนั้น ท่านบอกว่า คปท.คิดไปเองว่า สมเด็จฮุนเซน-ทักษิณ จะได้ประโยชน์

ภาพ นายพิชิต ไชยมงคล จากแฟ้ม
คิดไปเองได้ไงครับ ก็ ฮุน มาเนต มาไทย 7 ก.พ. รัฐบาลก็แถลงว่า ได้คุยกันเรื่องแบ่งผลประโยชน์ในแหล่งปิโตรเลียม

หลังจากนั้น 21 ก.พ. ฮุนเซน มาเยี่ยมทักษิณที่บ้าน นายกฯ เศรษฐา ก็แถลงเองว่า ฮุนเซน เชิญ อุ๊งอิ๊ง ไปกัมพูชา

อุ๊งอิ๊งก็บอกจะไปคุยเรื่องผลประโยชน์ระหว่าง 2 ประเทศ

มันต่อเนื่องกันมาแบบนี้ จะให้เราคิดอย่างไรได้ละครับท่านบิ๊กทิน

ท่านไม่รู้เรื่องอะไรเลยใช่ไหม รู้ไหมว่า ทักษิณ ฮุนเซน เขาวางแผนอะไรร่วมกัน แต่ก็ไม่แปลกที่ท่านไม่รู้เรื่อง ขนาดได้เป็น รมต.กลาโหม ท่านยังไม่รู้ตัวเลย

เอาเป็นว่า พรุ่งนี้ คปท.จะไปบอกท่านเองที่ ก.กลาโหม 10.30 น.เจอกันครับ บิ๊กทิน

หรือนี่คือเหตุผล
ทำไม รมต.กลาโหม ไม่เป็นทหาร
ทำไม รมต.กลาโหม จึงเป็นพลเรือน
หรือเพราะว่า ถ้า รมต.กลาโหม เป็นทหาร เรื่องชายแดนข้อพิพาทที่มีเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง ทหารอย่างน้อยเขาจะไม่ยอมง่ายๆ

เพราะทหารย่อมมองประเทศในมุมอธิปไตยเป็นหลัก ย่อมไม่เสียชื่อเรื่องเสียดินแดนแน่ๆ

การที่เลือก สุทิน คลังแสง ก็เพื่อท่าทีทางการเมืองมากกว่าทางการทหารใช่ไหม และเมื่อเป็นท่าทีการเมืองมันก็ง่ายในการจัดการประโยชน์...

หรือ นี่คือเหตุผลที่เลือก สุทิน คลังแสง เป็น รมต.กลาโหม ในตอนนี้ พอหมดประโยชน์ก็คงเปลี่ยนคนอื่นซินะ”

ขณะที่ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“อย่าทุรยศแผ่นดิน

เกาะกูดกลับอยู่บนความสนใจ คนไทยกลัวความฉ้อฉลนักการเมือง ร่วมมือกับต่างชาติเพื่อผลประโยชน์

เขาพระวิหาร ก็เสียไปแล้ว ไม่แปลกใจที่คนจะกลัวเสียเกาะกูด ขอร่วมยืนยันอีกคน เอกสารยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนใดๆ

นักการเมืองอย่าพูดมั่วๆ จะพัฒนาพื้นที่ร่วมต้องชัดเจน อย่าเห็นแก่ได้ อย่าร้อนรนจนเสียดินแดน เอ็มโอยู 44 ทั้งสองฝ่ายตีความไม่เหมือนกัน ทุกอย่างไม่จบ ต้องคุยกันอีกนาน

ภาพ นายนันทิวัฒน์ สามารถ จากแฟ้ม
เพื่อนบ้านมักอ้างว่า ผู้นำตกลงกันแล้ว ให้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ร่วม ข้อเท็จจริงกว่าจะพัฒนาจนได้น้ำมันไม่ต่ำกว่า 10 ปี ถึงเวลานั้น ก๊าซและน้ำมันจะมีค่า?

หากยังคิดราคาเหมือนนำเข้า คนไทยใช้น้ำมันแพงเหมือนเดิม แลกกับเสียเขตแดน จะพัฒนาทำไม แถมกรีนไฮโดรเจนกำลังเร่งพัฒนา รถไฟฟ้าก็มาแล้ว

ขอให้มั่นใจ ข้าราชการ ก.ต. ไม่ยอมแพ้ กลัวใจแต่นักการเมือง อย่าทุรยศต่อแผ่นดิน อย่าขายชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตัว.”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการ ว่า ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเอเชียตะวันออก กรมแผนที่ทหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาประชุมหารือ เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

โดย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ว่า ได้ยึดตาม MOU 2544 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจา ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และเรื่องเขตพัฒนาร่วม ที่จะต้องเจรจาควบคู่กันไปแยกกันไม่ได้

ซึ่งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือ เจทีซี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคง และเชื่อได้ว่า หน่วยงานรับผิดชอบจะมุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่เสียสิทธิด้านเขตแดนตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่างๆ

นายนพดล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการเจทีซี จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น การเสนอข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้หารือประเด็นผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จฮุนเซน ประธานองคมนตรีของกัมพูชา จึงไม่เป็นความจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น