“ดร.อานนท์” ส่งความหวังดี “ตะวัน-แฟรงค์” คุกคือที่ปลอดภัยที่สุด! ที่จะรอดเงื้อมมือผู้บงการอยู่เบื้องหลังระบุ ติดคุกยาวๆ จะปลอดภัยต่อชีวิตสองคนนี้ “โบว์” ข้องใจ พงส.ทำคดี “ตะวัน” มิชอบ ชี้ สังคมไม่ควรเห็นด้วยการละเมิดหลักนิติธรรม
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 ก.พ. 67) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ระบุว่า
“ศาลอาญาท่านไม่ให้ประกันตัวตะวันกับแฟรงค์นั้น ผมคิดว่าดีที่สุดสำหรับสองคนนี้แล้ว
อย่าลืมว่า ที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับตะวันกับแฟรงค์คือคุก เพราะผู้ที่บงการเบื้องหลังตะวันกับแฟรงค์ย่อมไม่ต้องการให้สาวได้ถึงตัวคนบงการ จะทำให้ผู้บงการเสี่ยงติดคุกไปด้วย
ดังนั้น แฟรงค์กับตะวันหากได้ติดคุกยาวๆ จะปลอดภัยต่อชีวิตสองคนนี้มากที่สุดครับ”
ขณะเดียวกัน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
“ศาลสั่งขังตามคำขอของพนักงานสอบสวน ที่ขอขังระหว่างสอบสวนได้ทีละผัด ผัดละ 12 วัน ถ้าครบ 12 วันแล้ว พนง.สอบสวนไม่ขอขังต่อ ศาลก็จะปล่อยตามกฎหมาย วันนี้น่าจะตั้งคำถามไปที่พนักงานสอบสวนด้วยว่าจะขอฝากขังต่อมั้ย และมีเหตุผลอะไร เพราะตามปกติการขอฝากขังระหว่างสอบสวนที่ยังทำสำนวนไม่เสร็จต้องทำเพื่อประโยชน์ของการสอบสวน คือ ยังสอบผู้ต้องหาไม่เสร็จหรือกลัวผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีเหตุผลแบบนั้นอยู่เลย ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานของเหตุการณ์ขบวนเสด็จทั้งหมดอยู่ในมือตำรวจแล้ว สังคมก็รับรู้กันทั่วจากคลิปเต็มตลอดเหตุการณ์
การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหา 116 จากเหตุการณ์ขบวนเสด็จ เป็นข้อหาที่เกินจริง และเป็นไปเพื่อใช้ข้ออ้างว่าโทษสูงในการคัดค้านการประกันตัวต่อไปในชั้นศาล (ซึ่งข้ออ้างนี้ใช้ในชั้นสอบสวนแบบนี้ไม่ได้)
การที่พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน ทั้งที่ไม่ได้มีเหตุผลจำเป็นในการสอบสวน ก็มิชอบ
การที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังในกรณีแบบนี้ ก็ไม่ได้เป็นไปตามครรลองของหลักนิติธรรมที่พึงจะเป็น
ไม่มีอะไรปกติสักอย่าง แต่ถูกใจผู้คน เพราะสิ่งที่ตะวันทำนั้น มันน่าโมโห และแน่นอน การอดอาหารอีกครั้งกับข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ ในบริบทที่ตัวเองกำลังถูกสังคมรังเกียจ ก็เป็นเรื่องงี่เง่า
แต่สังคมเราไม่น่าจะโยงสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตของกฎหมายในการดำเนินคดีเพื่ออ้างเป็นเหตุผลให้กับการกักขังคนโดยมิชอบ และเห็นด้วยกับการละเมิดหลักนิติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า”