ส่องความเห็น สารพัดหน่วยงาน หลัง “กระทรวงศึกษาฯ” ยุคภูมิใจไทย ได้ไฟเขียว ครม.แก้ไขหลักการเป็น “เช่า” แท็บเล็ต-โน้ตบุ๊ก-Chromebook จำนวน 6 แสนเครื่อง ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้าน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา เผย “สภาพัฒน์” แนะ ทบทวนรายละเอียด ยกช่วง “โควิด-19” ปัญหาการเรียนการสอน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีปัญหาเพียบ!
วันนี้ (26 ก.พ. 2567) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ที่อนุมัติในหลักการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อหนี้ผูกพันกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในงบประมาณรายจ่ายปี 2568 -2572 (5 ปี)
ด้วย “การเช่า” แท็บเล็ต-โน้ตบุ๊ก-Chromebook จำนวน 6 แสนเครื่อง เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime)”
หลัง ศธ. มีการแก้ไขรายละเอียด “ก่อน” เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ เป็นกิจกรรมจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนมาเป็นการเช่าโดยไม่ให้กระทบต่อวงเงินงบประมาณในภาพรวม
สำหรับ มติ ครม. ดังกล่าว สพฐ. จะร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ทบทวนรายละเอียด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซํ้าซ้อน และเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
ที่น่าสนใจ พบว่า มติ ครม. ให้กำหนดเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา ดำเนินโครงการ 5 ปี ได้
โดยต้องสามารถ “ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนการสอนของโครงการให้ทันสมัย” เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
รวมทั้งให้พิจารณารายละเอียดของการเช่าใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนให้รอบคอบและเหมาะสมด้วย
กำหนดให้ “กลุ่มเป้าหมายของโรงเรียน” ที่จะดำเนินการในระยะแรก โดยให้ความสำคัญ กับการกระจายอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลี่อมลํ้าของการเรียนการสอน
และเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อปิดช่องว่างการเรียบรู้และเร่งยกระดับการศึกษา ของประเทศในภาพรวมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ท้ายสุดให้มีการประเมินผลการดำเนินโครงการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงขั้นตอน และกระบวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ให้นำผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) ของประเทศที่ต้องเพิ่มขึ้นมากำหนดเป็นผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้วย
ก่อนหน้านั้น พบว่า มีหลายหน่วยงานแสดงความเห็นต่อหลักการดังกล่าว เช่น สภาพัฒน์ เห็นว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการและการใข้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ มีประสิทธิภาพ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1. ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินโครงการให้ประสบผลสำเร็จ สะท้อนได้จากบทเรียนและข้อเสนอแนะการพัฒนานโยบายจากตัวอย่างต่างประเทศที่ดำเนินโครงการลักษณะคล้ายคลึงกัน
และการจัดการเรียนการสอนช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยพบว่า การเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีเผชิญกับปัญหา สถานการณ์ความเหลื่อมลํ้าในการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ
ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำแผน ในการจัดเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มโครงการ โดยการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงมหาดไทย
ในการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ การอบรมและการสร้างความคุ้นชินกับอุปกรณ์ให้แก่ ครูผู้สอนและนักเรียนอย่างเพียงพอ
และควรมีแนวทางในการส่งเสริมการออกแบบการเรียนการสอน และ การประเมินการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างครูผู้สอนและนักเรียนที่สอดคล้องคับบริบทของแต่ละพื้นที่
2. เนื่องจากโครงการมีการใช้งบประมาณที่สูง ดังนั้น จึงควรพิจารณาดำเนินโครงการ ในลักษณะนำร่องในโรงเรียนที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนแต่ละขนาด และครอบคสุมแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ
เพื่อประเมินความคุ้มค่า ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินโครงการ เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระทางการคลัง ของประเทศมากเกินจำเป็นหากโครงการไม่ประสบความสำเร็จ
3. ควรมีการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของการดำเนินโครงการ เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือก อาทิ ความคุ้มค่าของการเช่าเปรียบเทียบกับการซื้อเครื่องคอมพิวเตอรโน้ตบุ๊ก
ทั้งนี้ การดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการในแต่ละรายการ ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า ความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ
4. ควรมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ของโครงการในภาพรวม พร้อมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัด ที่สะท้อนผลลัพธ์ และผลกระทบ รวมถึงมีการกำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลของโครงการเป็นระยะ
เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในแต่ละช่วง
ขณะที่ สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นว่า การปรับแก้เอกสารรายละเอียด ให้มีความกระชับ ชัดเจน โดยไม่กระทบต่อวงเงินงบประมาณในภาพรวมของโครงการ
เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และเกิดความคุ้มค่า ประโยชน์สูงสุดในการใซ้จ่ายงบประมาณ รวมถึงการปฏิบัติ ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 ม.ค. 2567 เรื่อง การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางติจิทัล National Cloud)
สำหรับ “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime)” ศธ.เคย เสนอใช้วงเงินรวมทั้งสิ้น 22,102,973,600 บาท
แบ่งเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 7,469,328,800 บาท
ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 14,633,644,800 บาท เสนอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2572
เป็นการขยายประสิทธิภาพการทำงานของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDLP) ระยะที่ 1 จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการสื่อสารและการเรียนแบบสองทาง
โดยนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา
รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษาในกำกับ ศธ. ให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศธ. โดย สพฐ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา : พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 วงเงินงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ.
สามารถรองรับโรงเรียนคุณภาพ ในสังกัด ศธ. จำนวน 349 โรงเรียน และมีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ รวมทั้งสิ้น 482.26 ล้านบาท ดังนี้
เช่าใช้ระบบคลาวด์ระดับ ศธ. วงเงิน 36.38 ล้านบาท
จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) วงเงิน 200.88 ล้านบาท
จ้างที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน วงเงิน 245 ล้านบาท
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะจัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด ศธ. จำนวน 29,312 โรงเรียน
โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้
1. การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ทุกเวลา (ระยะที่ 2) 6.5 พันล้าน
งบประมาณ 6,531.08 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
เปลี่ยนบทบาทครูเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและประกอบอาชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อสังคม มีการดำเนินการ ดังนี้
การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์
การเช่าใช้ระบบคลาวด์ สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา
2. การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน 1.5 หมื่นล้าน
เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 15,571.90 ล้านบาท
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และมีโอกาสได้อย่างเท่าเทียมครอบคลุมทั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
เช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 607,655 เครื่องรวมเป็นเงิน 15,491.90 ล้านบาท ระยะเวลา 60 เดือน สรุปได้ ดังนี้
อุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 547,991 คน จากโรงเรียน 1,018 แห่ง วงเงิน 13,809.37 ล้านบาท
อุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) สำหรับครู จำนวน 59,664 คน จากโรงเรียน 1,018 แห่ง วงเงิน 1,682.52 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้นครูและนักเรียนจากโครงการดังกล่าวจะได้รับ Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook จำนวน 607,655 คน วงเงินงบประมาณ 15,491.90 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลรวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น
**การจัดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา การจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี การสร้างสรรค์สื่อและการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและการสร้างเครือข่ายผู้สร้างสื่อเทคโนโลยีและผู้ใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งนี้ ศธ. จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับปีงบประมาณอื่นๆ จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ กระทรวงศึกษารายงานต่อ ครม.ด้วยว่า
สพฐ. มีระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในโลกปัจจุบัน
ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทันสมัย โดยปรับบทบาทจาก “ครูผู้สอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการการเรียนรู้”
ที่ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ ออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
ผู้เรียนได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผู้เรียนสามารถ “เรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา”
นักเรียนและครูผู้สอน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์ม NDLP
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลไทยเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต.