xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.การเมืองฯ เชิญ สื่อ-ตร.แจงนักข่าวถูกจับ หวังสร้างหลักประกันเสรีภาพการนำเสนอ ปัดอุ้มสื่อจงใจทำผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เชิญตัวแทนสื่อ-ตร.แจงกรณีนักข่าวถูกจับ หวังสร้างหลักประกันเสรีภาพการนำเสนอข่าว หาที่ยืนให้สื่อออนไลน์-ขนาดเล็ก ปัดอุ้มนักข่าวจงใจทำผิด ยันต้องทำกติกาให้ชัด

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่รัฐสภา น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ ซึ่งมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง สืบเนื่องจากกรณีตำรวจออกหมายจับกุมผู้สื่อข่าว และช่างภาพ ในข้อกล่าวหาเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา

โดย น.ส.ภคมน กล่าวว่า กมธ.จะเป็นตัวกลาง เปิดพื้นที่ให้เป็นเวที กับสื่อมวลชนอิสระ และออนไลน์ ที่เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการทำงาน ฝ่ายตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล และสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ส่วนจะมีธงอะไร จากการเรียกเข้าชี้แจงหรือไม่นั้น อย่างน้อยๆ เราคงไม่ได้กลับไปพูดถึงกรณีที่เกิดขึ้น เพราะผ่านไปแล้ว หลังจากนี้ เราอยากให้มีเส้นเริ่มต้นว่า ขอบเขตการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์ ล่อแหลมต่างๆ จะมีขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน การคัดกรองสื่อมวลชนจะเป็นอย่างไร

น.ส.ภคมน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่า สื่อมวลชนที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชนอิสระ ออนไลน์ และขนาดเล็ก หวังว่า อาจจะได้คำตอบว่า สื่อกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการฟ้องปิดปากเหล่านี้ จะมีเส้นการทำงานในสังคมอย่างไรได้บ้าง อาจจะพิจารณาจากช่องทางการเผยแพร่ มียอดผู้ติดตามเท่าไหร่ การนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากี่ปี จึงถือว่าเป็นสื่อมวลชน อีกทั้งต้องยอมรับว่า บริบทของสื่อมวลชนไทยเปลี่ยนไปแล้ว คงไม่ได้มีแค่สื่อโทรทัศน์ หรือวิทยุ แต่ยังมีสื่ออิสระมากมาย ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ผู้คนสามารถเป็นผู้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงได้ ดังนั้นถึงเวลาที่รัฐ หรือ สตช. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลต้องปรับตัวพูดคุย เริ่มต้นพร้อมกัน

“เพื่อให้มั่นใจว่า อย่างน้อยๆ ในรัฐบาลพลเรือนชุดนี้ จะสามารถการันตีได้ในระดับเบื้องต้นว่า เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเหตุการณ์สุดท้าย ที่จะมีการคุกคาม ลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง“ น.ส.ภคมน กล่าว

น.ส.ภคมน กล่าวด้วยว่า ได้มีการเชิญตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปด้วย แต่ไม่มีตัวแทนตอบรับมา เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ เราจึงอาจจะไม่ได้คำตอบว่า หลังจากนี้ การจัดการ หรือการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนในประเทศไทย ควรจะเป็นรูปแบบแบบไหน ซึ่งก็น่าเสียดายพอสมควร

ส่วนกรณีที่สมาคมสื่อฯ ไม่มีการตอบรับมานั้นจะสะท้อนอะไรหรือไม่ น.ส.ภคมน กล่าวว่า ค่อนข้างจะผิดหวังนิดหนึ่ง เพราะสมาคมสื่อฯ เอง น่าจะคว้าโอกาสใช้พื้นที่ กมธ. ในการยืนยันความชอบธรรมให้กับตนเอง ที่ผ่านมา สมาคมสื่อฯ ก็ถูกตั้งคำถามเยอะมากถึงบทบาทในการปกป้องเสรีภาพของคนในวิชาชีพสื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก และยังคงต้องตั้งคำถาม และพิสูจน์บทบาทของสมาคมสื่อฯ กันต่อไปว่า จะทำให้คนที่อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนเชื่อมั่นได้อย่างไร

น.ส.ภคมน กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ กมธ. และคณะทำงาน คงจะผลักดันต่อให้ออกมาในรูปแบบข้อบังคับที่ชัดเจน ให้สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างเสรีภาพจริงๆ ยืนยันว่า เราไม่ได้เรียกร้องเพื่อสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่เราเรียกร้องภาพลักษณ์และความชอบธรรมให้กับตำรวจด้วย

ส่วนความพยายามผลักดันในครั้งนี้ จะเป็นการอุ้มสื่อมวลชนที่จงใจทำผิดกฏหมายหรือไม่ น.ส.ภคมน กล่าวว่า เราคงไม่มีหน้าที่ที่จะพิจารณา หรือชี้ผิดชี้ถูกกับใคร แต่สิ่งที่เราต้องทำวันนี้ คือ เราต้องทำกติกาให้ชัดก่อน ที่ผ่านมากติกาไม่เคยชัด เมื่อไหร่ที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อน และมีคนที่เห็นด้วยกับผู้เดือดร้อน ก็จะมีกล่าวหาแบบนี้เสมอ ถ้าอยู่บนกติกาเดียวกัน ก็พูดคุยกันได้ ควรเริ่มต้นกติกาด้วยการนับขั้นบันไดเดียวกัน

สุดท้ายถ้าสื่อเป็นคนผิด จะได้พิจารณาลงโทษอย่างไม่มีความเคลือบแคลงใจ ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อมูลในวันนี้แล้ว กมธ.จะมีการนำไปทำงานต่อ หากสภาอยู่ครบสมัย ก็คงจะมีโอกาสได้เห็นการยื่นพระราชบัญญัติบางอย่างเข้าสภา เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่คงต้องถกกันหลายฝ่ายต่อไปว่า การคุ้มครองนี้อาจจะไม่ใช่การริดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่ควรมีกฎหมายใด มาบังคับใช้เลยหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น