xs
xsm
sm
md
lg

“นิติพล” มอง ส.ป.ก.โคราช ออกทับที่อุทยานเขาใหญ่ สะท้อนปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดิน ย้ำ ต้องปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (21 ก.พ.) นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนถึงกรณีประเด็นความขัดแย้งระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา กรณีการออก ส.ป.ก. กับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนกลายเป็นประเด็นที่ผ่านมานั้น

นายนิติพล ระบุว่า ความจริงแล้วตนไม่ประหลาดใจเท่าไหร่ เพราะนี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการบริหารจัดการที่ดินในประเทศไทย ที่เป็นมาหลายทศวรรษ ซึ่งก่อปัญหาทั้งต่อประชาชนและหน่วยงานรัฐด้วยกัน ที่ผ่านมา ที่ดินในประเทศไทยกว่า 320 ล้านไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ในการถือครองโดยหน่วยงานของรัฐไปแล้วกว่า 200 ล้านไร่ กระจายกันไปอยู่ในมือของหน่วยงานต่างๆ ใน 8 กระทรวง อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายถึง 16 ฉบับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันดีคืนดีหน่วยงานรัฐสองหน่วยหรือมากกว่าสองหน่วยจะมีที่ดินที่ทับซ้อนกันเองอยู่

นายนิติพล กล่าวต่อไปว่า การที่ที่ดินหน่วยงานรัฐทับซ้อนกันในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก เพียงแต่ว่าไม่เป็นประเด็นความขัดแย้งรุนแรงและไม่เป็นข่าวขึ้นมาเหมือนกรณีดังกล่าว แต่สิ่งที่ต้องพูดคือที่ผ่านมาเมื่อเป็นกรณีหน่วยงานรัฐมีที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนขึ้นมา ประชาชนมักต้องเป็นผู้ยอมรับชะตากรรมและไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้ได้มากเท่ากับกรณีหน่วยงานรัฐ

“นี่คือ สิ่งที่ชาวบ้านประชาชนทั่วประเทศนับสิบล้านคนกำลังเผชิญอยู่ วันดีคืนดีก็มีการมาประกาศทับว่าที่นี่เป็นของอุทยานฯ บ้าง เป็นป่าสงวนบ้าง เป็นที่ราชพัสดุบ้าง ฯลฯ ปัญหาคือเมื่อเป็นชาวบ้านก็ไม่มีทางสู้ ได้แต่ยอมก้มหน้ารับชะตากรรม เขาผ่อนปรนให้อยู่ก็ต้องอยู่อย่างคนไม่มีสิทธิ ถ้าไม่ผ่อนปรนให้แล้วไล่ที่ขึ้นมาก็ต้องหอบข้าวหอบของออกจากบ้านไปตายเอาดาบหน้า” นายนิติพล กล่าว

นายนิติพล กล่าวต่อว่า หากนำที่ดินที่หน่วยงานรัฐเหล่านี้ถือครองอยู่ทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกัน จะเป็นปริมาณที่ดินที่มากถึง 465 ล้านไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่ดินที่ใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศรวมกันเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่หน่วยงานรัฐด้วยกันเองก็ออกที่ดินทับซ้อนกันเอง แต่พอเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน เป็นผู้มีอำนาจด้วยกัน ก็มักจะมีการพูดคุยตกลงกันให้เข้าใจได้ ไม่เหมือนกับกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น ในกรณีนี้ เราจะเห็นทั้งสองฝ่ายอ้างกฎหมายคนละฉบับกัน โต้แย้งกันว่ากฎหมายของใครมีศักดิ์สูงกว่าของใคร หรือของใครใหม่กว่า จะเป็น พ.ร.บ.อุทยานฯ 2505 หรือจะเป็นกฎหมาย ส.ป.ก. 2518 แต่สำหรับตนแล้ว ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือจะสร้างให้เกิดสมดุลอย่างไร ระหว่างการรักษาผืนป่าอุทยานที่เหลือน้อยลงเต็มทีในประเทศไทย กับการกระจายที่ดินให้ถึงมือประชาชนผู้ไร้ที่ดินทำกินอย่างเป็นธรรม

นายนิติพล กล่าวด้วยว่า ทั้งวิธีการบริหารจัดการที่ผ่านมา ตัวของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ และกฎหมายที่มีอยู่เอง ต่างก็สร้างปัญหารุกเข้าไปในพื้นที่ประชาชนนับล้านๆ คนเหมือนกันในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา และนั่นคือสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอมาตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งปีที่แล้ว ว่าถึงเวลาที่เราจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดินใหม่ทั้งระบบ ต้องมีการจัดทำประมวลกฎหมายที่ดินใหม่ให้เป็นระบบ พร้อมทั้งการพิสูจน์สิทธิ์ให้กับทั้งรัฐและประชาชน ด้วยเกณฑ์ที่ยึดตามความเป็นจริงที่ไม่ใช่เข้าข้างหน่วยงานรัฐอย่างเดียว

“รวมถึงการแปลง ส.ป.ก. เป็นโฉนด ในแบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ ให้กับเฉพาะเจ้าของ ส.ป.ก. ตัวจริง มีเกณฑ์ระยะเวลาการถือครองชัดเจน มีการจำกัดขอบเขตในการให้ และให้ในฐานะโฉนดจริงๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ควรเป็น ซึ่งไม่ใช่ในแบบที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่ ที่ทั้งยังจำกัดสิทธิและเปิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ และเอาเข้าจริงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฝ่ายนายชัยวัฒน์ (ลิ้มลิขิตอักษร) ตั้งข้อสงสัยอยู่ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเข้าฮุบที่หรือไม่ จึงมีการออก ส.ป.ก. มาทับที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบบนี้ ซึ่งในระยะยาวก็คงต้องไปพิสูจน์กันต่อไป” นายนิติพล กล่าว

นายนิติพล กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะยาว สิ่งที่ต้องทำคือการวางนโยบายพื้นฐานและมีเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการพิสูจน์สิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับประชาชนที่ควรมีสิทธิบนที่ดินผืนนั้นจริงๆ ในฐานะที่บรรพบุรุษเข้ามาตั้งรกรากหลายช่วงอายุคนแล้ว เพียงแต่ไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ แล้ววันดีคืนดีรัฐก็มาออกประกาศแผนที่รุกเข้ามาบนที่ดินของพวกเขา ที่ดินไหนที่ไม่ใช่ป่าอุดมสมบูรณ์ หรือพื้นที่อนุรักษ์รัฐควรต้องปล่อยมือให้ประชาชนได้แล้ว ส่วนที่ไหนเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าใครก็ตามจะเข้ามาบุกรุกไม่ได้ แม้แต่หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น