โฆษก ปชป. ชี้ กรณีพักโทษ กระบวนการยุติธรรมต้องเท่าเทียม จ่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ สกัด “โรคทักษิณโมเดล”
วันนี้ (19 ก.พ.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีการได้รับการพักโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร ว่า หลักกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชนมีความน่าเชื่อถือ แต่กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลไม่ตระหนักถึงหลักนิติธรรมตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทุกอย่างเป็นความลับช่วยปกปิดความจริงกันอย่างเป็นระบบ หลักนิติธรรมถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดี อำนาจตุลาการถูกท้าทายจากอำนาจราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทาง ของกระบวนการยุติธรรม
นายราเมศ กล่าวว่า ที่บอกว่า นายทักษิณ ได้รับโทษจำคุกถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลารวม 6 เดือน ชัดเจนจากข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณ ไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ป่วยจริงหรือไม่ รักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนรู้ทัน บุคคลที่อยู่ในระบบทักษิณถวิลหาความยุติธรรมที่เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ก็เป็นแค่ลมที่ผ่านออกมาจากปากไม่ใช่คำพูดที่เกิดจากสามัญสำนึก แต่เป็นการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ไร้ความเท่าเทียม เหยียบย้ำอำนาจศาล ไร้ซึ่งหลักนิติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนการบังคับโทษเป็นเช่นนี้ แล้วหลักการของบ้านเมืองจะเหลืออะไร ประชาชนจะพึ่งหวังกระบวนการได้อย่างไร
นายราเมศ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นของกระบวนการพักโทษนั้นแม้จะเป็นหลักการที่ราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษทั่วไป แต่ประชาชนมีความติดใจในเรื่อง “การจำคุกจริงหรือไม่” และในเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเสนอ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กับคณะ ต่อสภาชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติได้ตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาชุดดังกล่าว ดังนั้นตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะได้นำกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุม ส.ส. โดยจะให้มีการแก้ไขในเรื่องอำนาจในบางเรื่องของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อพรรคพิจารณาแล้วจะได้ยื่นเป็นญัตติใหม่ในการประชุมสภาชุดนี้
ซึ่งสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ ได้มองเห็นถึงปัญหาของการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว แต่ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณาว่าจะให้มีการลดโทษ หรือพักโทษ กับนักโทษคดีนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คกก.สิทธิมนุษยชน เป็นต้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการป้องกันการใช้อำนาจโดยอำเภอใจโดยองค์กรบางองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นกับนายทักษิณ
นายราเมศ กล่าวอีกว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจของกรมราชทัณฑ์อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องมีวุฒิภาวะในการตรวจสอบ และดำเนินการให้บ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ มีกติกาภายใต้ระบบนิติรัฐ ฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกด้อยค่าให้ลดน้อยถอยลงจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก็แสดงว่ากำลังเกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว
“ต่อไปอาจจะมีคนอ้างในระหว่างที่ถูกคุมขังได้ว่า ผมเป็นโรคคุณทักษิณ เมื่อเป็นโรคคุณทักษิณก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครทราบว่าจะรักษายังไง ผมไม่อยากให้เกิดทักษิณโมเดลในปลายทางของกระบวนการยุติธรรม” นายราเมศ กล่าวในที่สุด