xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้ว! “มท.” ชี้เป้า เขียน TOR ติดตั้ง “Solar Rooftop” นำร่องหลังคา 878 ที่ว่าการอำเภอ คาด ปค.ตั้งงบฯ 67 กว่า 800 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาแล้ว! “มหาดไทย” เผย สเปก ชี้เป้าเขียน TOR ติดตั้ง “Solar Rooftop” นำร่องหลังคา 878 ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สนองนโยบาย “มท.หนู” หวังลดค่าใช้ไฟฟ้าหน่วยงานภูมิภาค เผย ปค.ตั้งงบฯ 67 ไม่ต่ำกว่า 800 ล้าน ย้ำ ผู้ว่าฯ เตรียมพร้อม จัดอย่างน้อยอำเภอละ 1 รายการ คาด ใช้สเปก 30 กิโลวัตต์ ครบชุดแห่งละ 8.5 แสน ยัน “ห้ามย้าย/สร้างใหม่” เป็นทรัพย์สินในครอบครองของ “กรมการปกครอง” เท่านั้น

วันนี้ (12 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อนโยบาย “อำเภอพลังงานสะอาด” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าของหน่วยงานรัฐ

โดยให้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell/Solar Rooftop) ในทุกส่วนราชการ ในระดับภูมิภาค

ล่าสุด พบว่า กรมการปกครอง ได้แจ้งขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกแห่ง เตรียมพร้อมดำเนินการทันที เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินมากกว่า 800 ล้านบาท

“สำหรับเป็นค่าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ 878 อำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 รายการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร”

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา มท. ได้การจัดทำคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบลงทุน รายการสนับสนุนงบประมาณงบประมาณสิ่งก่อสร้างส่วนภูมิภาค

โดยมีการซักซ้อมกับอำเภอ หากติดตั้งระบบ Solar Rooftop บนหลังคาที่ว่าการอำเภอ ขนาด 30.00 กิโลวัตต์ งบประมาณชุดละ 850,000 บาท ขนาด 25.20 กิโลวัตต์ งบประมาณชุดละ 650,000 บาท และขนาด 18.00 กิโลวัตต์ งบประมาณชุดละ 470,000 บาท

นอกจากนี้ ยังออกหลักเกณฑ์พื้นฐานและความเหมาะสมสำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบบติดตั้งบนหลังอาคารที่ว่าการอำเภอ เช่น ให้จังหวัดประมาณการราคาแบบแปลนการก่อสร้าง (ปร.4 และ ปร.5)

ให้มีภาพถ่ายสถานที่ดำเนินการเอกสารกรรมสิทธิ์ หรือเอกสารสิทธิการครอบครองและวัตถุประสงค์การใช่ที่ดิน เอกสารหารขอใช้พื้นที่ รายการคำนวนโครงสร้างรองรับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แบบแผนผังระบบไฟฟ้า

โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ การพิจารณาคัดเลือกอาคารหรือสถานที่ราชการที่กรมการปกครองกำหนด ดังนี้

1) ต้องเป็นอาคารหรือสถานที่ ที่เป็นทรัพย์สินในครอบครองของกรมการปกครองเท่านั้น ห้ามย้าย/สร้าง (อาคารที่ว่าการอำเภอใหม่)

เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับการติดตั้งขอความร่วมมือมิให้ย้าย หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปสู่อาคารที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่

(ในกรณีขอสร้างใหม่) ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี หรือจนกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน เพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณแผ่นดิน เว้นเสียแต่จะย้ายระบบดังกล่าวไปใช้ในอาคารแห่งใหม่นั้นด้วย

2) พิจารณาติดตั้งภายนอก หรือบนหลังคาอาคารหรือสถานที่ ภายในบริเวณที่ว่าการอำเภอ เป็นลำดับแรก เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาดและลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในครัวเรือน

3) ทิศที่ตั้งของอาคารจะต้องรับแสงแดดได้มากที่สุด และไม่มีอาคารหรือต้นไม้ บดบังทางรับแสงแดด

อาคารหันหน้าออกทิศเหนือ ต้องดำเนินการติดตั้ง ระบบผลิตไฟฟ้าฯ บนหลังคาส่วนหลังของอาคารที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังคงทัศนียภาพด้านหน้าของอาคารที่ว่าการอำเภอให้คงเดิมไว้หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสม

อาคารหันหน้าออกทิศใต้ต้องดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯ บนหลังคาส่วนหน้าของอาคารที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดแต่ทัศนียภาพด้านหน้าของอาคารจะเปลี่ยนแปลงจากเดิม
หรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม

อาคารหันหน้าออกทิศอื่นๆ เช่น ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ จะทำให้ระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาได้รับแสงแดดน้อยลงส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงตามลำดับ

(ทั้งนี้ อาจแก้ไขโดยการให้วิศวกรออกแบบให้ระบบ มีโครงสร้างให้รับแสงแดดในทิศที่เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพที่สูงขึ้นหรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม)

4) โครงสร้างอาคารต้องมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับการติดตั้งได้ โดยเฉพาะโครงสร้างของหลังคาต้องรับน้ำหนักของแผงพลังงานแสงอาทิตย์และระบบผลิตไฟฟ้า ได้

หลังคาต้องลาดชันระหว่าง 0-30 องศา และมีขนาดพื้นที่เพียงพอสำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯ หากหลังคามีความลาดชันเกิน 0-30 องศา

ต้องให้วิศวกรออกแบบให้แผงพลังงานแสงอาทิตย์และระบบฯ มีโครงสร้างรองรับที่สามารถปรับทิศทางการรับแสงในทิศทางที่เหมาะสม

ท้ายสุด ขอบเขตงาน (TOR) การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดและการติดตั้งระบบ ไม่ควรน้อยกว่าข้อกำหนด/มาตรฐานตัวอย่างขอบเขตงาน (TOR)

ทั้งนี้ ควรกำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณของรัฐ โดยไม่ให้เกินจากค่าเฉลี่ยปริมาณการใช้ไฟฟ้าประจำวัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น