xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเสียหาย “ธนารักษ์” จี้ มท.เข้ม! นโยบายสถานที่ราชการ ติดตั้ง Solar Rooftop ผุดเงื่อนไขเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หวั่นเสียหาย “ธนารักษ์” จี้ มหาดไทย เข้ม! นโยบายสถานที่ราชการ เข้าใช้ กึ่งหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ ติดตั้ง Solar Cell - Solar Rooftop ในพื้นที่ทั่วประเทศ ผุดแนวทางฯพ่วงเงื่อนไข เฉพาะหน่วยงานรัฐ หากพบเป็นการนำไปใช้ประโยชน์หารายได้ ต้องชำระค่าประกันความเสียหายอาคาร สถานที่ติดตั้งฯ หากเกิดอัคคีภัย รวมถึงเงื่อนไขการขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ

วันนี้ (28 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าต่อ นโยบาย มท.1 ในการลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ เน้นการสร้างต้นแบบ ให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างของการใช้พลังงานทางเลือก

ด้วยการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell/Solar Rooftop ในสถานที่ราชการในสังกัด มท.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ล่าสุด พบว่า กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีหนังสือถึงหน่วยงานสังกัด มท. กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)

ทั้งนี้ หากเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในทางราชการในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการ หรือ อปท.ที่เป็นผู้ใช้ที่ราชพัสดุ และผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ ตามกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2563

โดยหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้ดำเนินการ และส่วนราชการ หรือ อปท. จะต้องชำระเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจากค่าสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า)

ทั้งนี้ ตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณ หรือเป็นกรณีการจัดหาผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (5 มิ.ย. 2561)

“โดยที่ไม่มีไฟฟ้าส่วนเกิน หรือมีกระแสไฟฟ้าไหลกลับระบบจำหน่ายไฟฟ้า (On-Grid) เพื่อจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก และไม่มีลักษณะเป็นการนำที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์ในทางที่เกิดรายได้”

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ เพื่อประโยชน์ในทางราชการตามกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 ที่ส่วนราชการ/อปท. สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่ต้องขออนุญาตต่อกรมธนารักษ์

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ ขอให้ส่วนราชการ หรือ อปท. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค

“จะต้องทำประกันความเสียหายของอาคาร หรือ สถานที่ที่ติดตั้งอันเกิดจากอัคคีภัย และเหตุทั้งปวงอันเกิดจากการติดตั้งระบบด้วย”

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนราชการ/อปท. จะต้องแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ทราบ พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการใน รายงานเกี่ยวกับการใช้ ปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ

ตามข้อ 19 ของกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563

ขณะเดียวกัน หากการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการ “นำที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์” ในทางที่เกิดรายได้ เช่น การให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค เข้ามาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์

โดยผู้ติดตั้ง จะจำหน่ายไฟฟ้าส่วนหนึ่งให้กับส่วนราชการ หรือ อปท. เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการ ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจ

และอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นไฟฟ้าส่วนเกิน หรือมีกระแสไฟฟ้าไหลกลับระบบจำหน่ายไฟฟ้า (On-Grid) เพื่อจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก

หรือ กรณีที่มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับการขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ เป็นต้น

การดำเนินการดังกล่าว จะถือเป็นการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หรือ ผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค

จะต้องขอความยินยอมจากส่วนราชการ หรือ อปท. ที่ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุก่อน แล้วจึงแจ้งความประสงค์ขอเช่าต่อกรมธนารักษ์ พร้อมแนบหนังสือให้ความยินยอม

จากนั้น กรมธนารักษ์ จึงจะดำเนินการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุนั้นๆ โดยการจัดทำสัญญาเช่า หรือสัญญาต่างตอบแทนอื่น

นอกเหนือจากสัญญาเช่ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายหรือผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564.


กำลังโหลดความคิดเห็น