xs
xsm
sm
md
lg

“คนเขาค้อ” วอน “เศรษฐา” แก้ปมที่ดินทับซ้อน 4 ตำบลโอด 6 พันครอบครัวเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวบ้าน 4 ตำบลในเขาค้อโวยรัฐฮุบที่ดิน 7.5 หมื่นไร่ไม่เป็นธรรม ทำ 6 พันกว่าครัวเรือนเดือดร้อน หลัง “กองทัพภาคที่ 3” ไล่ยึดที่คืน “กรมป่าไม้” ส่งต่อ “กรมธนารักษ์” ดันเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่ปี 2520 “รักษาการอธิบดีกรมป่าไม้“ รับไม่เคยมอบสิทธิให้ทหารเข้าไปใช้พื้นที่ ชี้ทำประชาพิจารณ์ไม่ถูกขั้นตอน กม. ล่อ ปชช.เช่าที่ตัวเอง

วันนี้ (28 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ 4 ตำบล คือ ต.เขาค้อ, ต.หนองแม่นา, ต.สะเดาะพง และ ต.ริมสีม่วง ใน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ หรือที่เรียกว่าเขตป่าถาวรหมายเลข 22 รวมกว่า 7.5 หมื่นไร่ 6 พันกว่าครัวเรือน ที่ประสบความเดือดร้อนจากแนวนโยบายจัดการที่ดินของรัฐบาล ที่ดำเนินการผลักดันที่ดินที่ประชาชนได้สิทธิอยู่อาศัยและทำกินมาตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมาไปเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งที่ประชาชนบางส่วนมีใบจอง (น.ส.2) ที่ออกโดย กรมที่ดิน ด้วย
ตัวแทนชาวบ้าน ระบุว่า ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทั้ง 4 ตำบล ได้สิทธิมาตามระเบียบการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2498 ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ซึ่ง จ.เพชรบูรณ์ ได้ทำโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาชาวไร่ และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ จำนวน 3 โครงการ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2519 และวันที่ 26 ก.ค.2520 โดยระบุพื้นที่อนุญาต คือ เส้นทาง 2 ข้างทางถนนทุ่งสมอ-เขาค้อ ข้างละ 1 กิโลเมตร (กม.) จำนวนพื้นที่ 12,875 ไร่, เส้นทาง 2 ข้างทางข้างละ 1 กม. ของถนนสายนางั่ว-หนองแม่ จำนวน 4 หมื่นไร่, 2 ข้างทางข้างละ 1 กม.ของถนนสายเขาค้อ-สะเดาะพง จำนวน 1.75 หมื่นไร่ 


ตัวแทนชาวบ้าน เล่าต่อว่า กรมที่ดินได้ดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้อง ระหว่างปี 2520-2527 มีราษฎรได้รับ น.ส.2 จำนวน 585 แปลง จาก 2,911 แปลง ส่วนใหญ่ยังขาดขั้นตอนการออกใบ น.ส.2 แต่ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่มาตลอด ต่อมาเมื่อเดือน พ.ย.2529 มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติทับโดยไม่กันราษฎรที่เข้าอยู่อาศัย และทำกินแล้วออก ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทั้งที่มีหนังสืออนุญาตจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ จ.เพชรบูรณ์ นำพื้นที่ไปขอจัดที่ดินแปลงใหญ่ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ กระทั่งในช่วงหลังปี 2528 กองทัพภาคที่ 3 ได้เข้ามาบริหารจัดการที่ดิน โดยอ้างว่า เมื่อปี 2520 กรมป่าไม้ ได้อนุญาตให้ กองทัพภาคที่ 3 เข้าใช้พื้นที่ และให้ราษฎรเข้ามาอยู่อาศัยและทำกินชั่วคราว

“หลังสืบค้นข้อมูลก็พบว่า ตั้งแต่การดำเนินการปี 2520 เป็นต้นมา ไม่ได้ปรากฎเอกสารหลักฐานใดๆที่ให้ทหารใช้พื้นที่แต่อย่างใด แต่ช่วงที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรมป่าไม้ เพื่อจะส่งมอบให้กรมธนารักษ์ เป็นที่ราชพัสดุต่อไป ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากอยู่ทำกินกันมาเป็นเวลานาน” ตัวแทนชาวบ้าน ระบุ

ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยด้วยว่า เมื่อปี 2565 ได้มีการสอบถามไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ ก็ได้รับคำยืนยันว่า กรมป่าไม้ไม่เคยอนุญาตให้ทหารเข้าไปใช้พื้นที่แต่อย่างใด โดยสรุปตรงกับชาวบ้านว่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้นได้อนุมัติให้ จ.เพชรบูรณ์ นำพื้นที่ ไปจัดที่ดินแปลงใหญ่ แต่มีข้อมูลด้วยว่า เมื่อปี 2562 จ.เพชรบูรณ์ แจ้งความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ดินผืนใหญ่ส่วนนี้ว่า เนื่องจากหน่วยงานทหารในพื้นที่มีความเห็นว่า ไม่สมควรออกใบจองหรือ น.ส.2 ให้แก่ประชาชน ทั้งที่เมื่อปี 2558 คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องโดยไม่ให้ราษฎรเสียสิทธิ กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือวันที่ 30 ก.ย.63 ซึ่งก็หมายความ ต้องออกใบแสดงกรรมสิทธิให้แก่ราษฎร แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

“นอกจากจะไม่มีการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านตามมติ ครม.แล้ว ก็มีการทำประชาพิจารณ์ที่ขั้นตอนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการให้ข้อมูลด้านเดียวว่า หากเป็นที่ราชพัสดุชาวบ้านจะสามารถอยู่อาศัยและทำกินได้ต่อไป โดยเสียค่าเช่าเพียงเล็กน้อยให้กับกรมธนารักษ์ ทั้งที่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นสิทธิของชาวบ้าน แต่ภาครัฐไม่ออกเอกสารสิทธิให้ตามกระบวนการ หลายเป็นว่าชาวบ้านต้องมาเช่าที่ดินของตัวเอง และขณะนี้ยังมีบางแปลงที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าด้วย” ตัวแทนชาวบ้าน กล่าว

ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวต่อว่า จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่กว่า 6 พันครัวเรือน ทั้งนี้จะมีการทำหนังสือด่วน พร้อมเอกสารหลักฐานทั้งหมด ถึงนายกรัฐมนตรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรสวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น