xs
xsm
sm
md
lg

ดองมาเป็นปี เปิดรับฟังนับไม่ถ้วน! “มท.หนู” สั่งแยก กม.คุมปืนเถื่อน ออกจากร่าง พ.ร.บ.ดอกไม้เพลิงฯ ยกเป็น พ.ร.ก.เปิดทางคืนปืนไร้ความผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดองมาเป็นปี เปิดรับฟังนับไม่ถ้วน! “มท.หนู” สั่ง ปค. แยกร่างกฎหมายคุมปืนเถื่อน ออกจากร่าง พ.ร.บ.วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงฯ ฉบับแก้ไข ยกเป็นร่าง พ.ร.ก.เปิดทางคืนไม่มีความผิด คาดแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ดันเป็นมาตรการควบคุมอาวุธปืน สนองนโยบาย “เศรษฐา 1” ลดปัญหาความรุนแรงสังคมให้เร็วที่สุด ชี้เป้าหมายต่อไป “ยกเลิกปืนสวัสดิการ” เผย รัฐบาลก่อนดันไม่สุด ติดปมทำไม่ต้องคืน ที่ “หน่วยทหาร”

วันนี้ (6 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าต่อกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ภายหลังเกิดอาชญากรรมจากการใช้อาวุธปืนบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปีที่แล้วล่วงเวลามามากกว่า 1 ปี

ล่าสุด น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุตอนหนึ่งว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

ได้มอบหมายให้กรมการปกครอง ดำเนินการยกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เกี่ยวกับ “มาตรการควบคุมผู้ที่ครอบครองปืนเถื่อน” ซึ่งมีหลักการเปิดทางให้มีการคืนอาวุธปืนในเวลาที่กำหนด

“ดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นมาตรการสำคัญเพื่อลดจำนวนและการเข้าถึงอาวุธที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพี่น้องประชาชน และความสงบของสังคม”

กำหนดมาตรการให้ผู้ที่ครอบครองปืนเถื่อน ไม่ได้จดจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาต ให้นำปืนมาคืนภาครัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดได้โดยไม่มีความผิด เพื่อให้เป็นมาตรการลดจำนวนปืนและปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ครอบครองปืนดังกล่าว จะไม่มีความผิด โดยคาดว่า หน่วยงานจะดำเนินการยกร่างแล้วเสร็จและนำเสนอต่อ รมว.มหาดไทย ได้ภายในสัปดาห์นี้

เนื่องจากกรมการปกครอง เคยยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน ร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ....

ซึ่งเดิมจะแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี กรมการปกครองจะดึงเฉพาะเรื่องการคืนปืนเถื่อนมาออกเป็น พ.ร.ก. ก่อน

นอกจากการออก พ.ร.ก. เพื่อเปิดทางให้ผู้ครอบครองปืนเถื่อนนำปืนมามอบแก่ทางการแล้ว ยังเตรียมออกมาตรการอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการครอบครอง และควบคุมจำนวนอาวุธปืนเพิ่มเติมอีก

เช่น การเตรียมยกเลิกปืนสวัสดิการ การพิจารณามาตรการสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าปืน ตลอดจนการกำหนดให้การปราบปรามปืนเถื่อนเป็นหนึ่งในเกณฑ์วัดผลงาน (KPI) ของนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา ปค.เคย ยกร่าง พ.ร.บ. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปีน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปีน พ.ศ. 2490

โดยในรัฐบาลที่แล้วผ่านความเห็นของ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 รวมถึง มีการเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย นับครั้งไม่ถ้วน

ร่างฉบับดังกล่าวถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติหลักการร่างฯ

มีสาระสำคัญ (1) แก้ไขเพิ่มเติม (การขอใบอนุญาต ป.3) ให้บุคคลที่มีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไว้ในครอบครอง นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนดังกล่าว

มาขอรับอนุญาตกับทางราชการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องรับโทษ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3)

(2) แก้ไขเพิ่มเติม (การขอใบอนุญาต ป.4) ให้บุคคลที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมาย

“มามอบให้หน่วยทหารที่ใกล้ที่สุด ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องรับโทษ โดยทางราชการไม่ต้องชดใช้ราคาและให้ตกเป็นของแผ่นดิน (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4)”

(3) กำหนดให้นายทะเบียนท้องที่หรือผู้ที่นายทะเบียนท้องที่มอบหมายจัดทำรายละเอียดอาวุธปืน (เพิ่มเติม มาตรา 10 วรรค 2)

(4) กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่นำอาวุธปืนมาให้นายทะเบียนท้องที่จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืนหรือตรวจสอบความถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เพิ่มเติม มาตรา 7)

ขณะที่หลายหน่วยงานให้ข้อสังเกต ต่อร่างฉบับนี้ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แม้จะไม่ขัดข้องต่อร่างฉบับนี้ แต่การนำอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอบุญาตมาขึ้นทะเบียน

“ควรมีการตรวจสอบหลักเกณฑ์มาตรฐานและประวัติอาชญากรรมของอาวุธปืนก่อน และการจัดเก็บข้อมูลอาวุธปืน ควรดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนหรือการขอใบอบุญาต”

นอกจากนี้ จะทำให้อาวุธปืนที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบการควบคุมและติดตามของรัฐ ชึ่งจะช่วยป้องปรามและสามารถติดตาม ตรวจสอบเจ้าของอาวุธปีนได้

และการกำหนดให้มีการยิงจัดเก็บข้อมูลอาวุธปืน จะส่งเสริมระบบการติดตาม (Tracing) ที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญในการขจัดอาวุธเล็กและอาวุธเบาผิดกฎหมาย

ด้าน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เห็นว่า ควรกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการถือครองอาวุธ

รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกัน มิให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่นำอาวุธปืนมาจัดทำรายละเอียด ตามร่างมาตรา 7 นั้น

“อาจไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

ส่วน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เห็นว่า ควรมีการกำหนดรายละเอียด วิธีการ และหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างชัดเจน ไว้ในกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง

“เพื่อให้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ได้รับอนุญาต มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหาย อันเกิดจากการอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการกระทำความผิด”

ทั้งนี้ ควรกำหนดมาตรการรองรับสำหรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย

ขณะเดียวกัน เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้การติดตามและตรวจสอบข้อมูลระหว่างหน่วยงาน มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ”

ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เห็นว่า กรณีการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ไว้ในความครอบครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาแสดงให้กับเจ้าหน้าที่ เพี่อขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย

“อาจเกิดปัญหาการนำเข้าอาวุธปืนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีราคาถูกกว่าภายในประเทศ มาดัดแปลงแก้ไขตัวเลขทะเบียน อาวุธปืน แล้วนำมาขอรับใบอนุญาตกับทางราชการ”

ดังนั้น ควรจะมีการกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการนำอาวุธปืน ที่จะนำมาขึ้นทะเบียนให้มีรัดกุมมากขึ้น

รวมไปถึงควรต้องมีการตรวจสอบความประพฤติ ประวัติ และคุณสมบัติของบุคคลก่อนอนุญาตให้มีอาวุธปืนได้

ท้ายสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหนังสือให้ข้อสังเกตว่า “หน่วยงานทหารที่ใกล้ที่สุด” ควรระบุให้ชัดเจน

เนื่องจาก “หน่วยทหารบางหน่วย” ไม่มีความพร้อม ในด้านอาคาร สถานที่ และกำลังพล ในการดำเนินการกำกับดูแลเก็บรักษาอารุธปืนดังกล่าว

รวมถึงควรพิจารณานำเทคโนโลยี มาช่วยในการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนปืนและปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา.


กำลังโหลดความคิดเห็น