xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมผู้ประกอบธุรกิจ อวป.เสนอกรรมาธิการปกครอง เรื่อง 11 มาตรการควบคุมอาวุธปืนเถื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



วันที่ 22 พ.ย. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง นัดประชุมผู้แทนจากสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CB410 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เพื่อหารือเกี่ยวกับการพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุม การครอบครอง การจัดจำหน่าย การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยมี นายฐิติธร บุพพารัมณีย์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย นำคณะผู้บริหารสมาคมฯ เข้าร่วมหารือ

ทั้งนี้ทางสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย ได้เสนอมาตรการ 11 ข้อ ในประเด็นที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ได้วางแนวทางเอาไว้ ดังนี้ 1.การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน ทางสมาคมเห็นว่า ควรเสนอให้มีการจัดอบรมเรื่องกฎหมายการใช้อาวุธปืนของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตในการมีและใช้อาวุธปืน ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม หรือกรณีที่มีเด็กอยู่ที่บ้านควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อความปลอดภัย เช่นการให้มีกล่องที่มีรหัสนิรภัย อาวุธปืนต้องมีสายคล้องล็อคไก และอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งานทั้งนี้ทางสมาคมฯ เห็นว่า พ.ร.บ.เดิมก็รัดกุมอยู่แล้วแต่อาจจะเพิ่มเติมเรื่องอายุให้มีอายุตั้งแต่ 25 ปี ขึ้นไปเพื่อให้มีวุฒิภาวะสูงขึ้น ส่วนข้อหารือในที่ประชุม ในกรณีนักกีฬาอาจจะมีข้อยกเว้นเรื่องอายุนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการขออนุญาต

2.การกำหนดอายุใบอนุญาต ทางสมาคมฯ เสนอความเห็นว่า ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.3) มีอายุ 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกเหมาะสมแล้ว ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) มีอายุ “ตลอดเวลาที่เป็นเจ้าของอาวุธปืน” นับตั้งแต่วันที่ออก ทาง
สมาคมฯ เห็นว่าเหมาะสมแล้ว เนื่องจากตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 นายทะเบียนมีอำนาจตามมาตรา 65 และ 66 ในการเพิกถอนใบอนุญาตอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขอายุใบอนุญาต ส่วนใบอนุญาตให้ค้าอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน (ป.5) มีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออก ทางสมาคมฯ เห็นควรให้มีการแก้ไข เป็นอายุ 3 ปี เนื่องจากลดการทำงานเอกสารที่ซ้ำซ้อน และเป็นมาตรฐานเดียวกับพระราชบัญญัติโรงแรม ที่มีการต่ออายุทุก 3 ปี

3.ปัญหาการมี และใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ ปืนเถื่อน ปืนผิดมือ การดัดแปลงอาวุธปืน และการดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน ทางสมาคมฯ เห็นว่า หน่วยงานของรัฐต้องจริงจังในการป้องกันปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิต ผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อยทั้งหลาย รวมถึงผู้ซื้อและผู้นำมาใช้ด้วย ซึ่งบทลงโทษ ควรมีโทษเพิ่มขึ้นปัญหาของอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ปืนเถื่อน ปืนผิดมือ การดัดแปลงอาวุธปืน การดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน ในส่วนของปืนผิดมือ ส่วนใหญ่มักจะมาจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ในการพยายามครอบครองอาวุธปืนโดยนำไปใช้ในทางที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งให้บุคคลครอบครองและป้องกันชีวิตทรัพย์สินตนเอง

ดังนั้นข้อสังเกตในการโอนอาวุธปืน ผู้ซื้อขอแบบ ป.3 นำมาให้เจ้าของอาวุธปืนเพื่อตัดโอนจากท้องที่ เจ้าของอาวุธปืนจะนำแบบ ป.3 และแบบ ป.4 (ใบอนุญาต ให้มีและใช้) ของตนเองไปดำเนินการทางทะเบียน และได้แบบ ป.4 (เดิม) ที่สลักหลังว่าจะโอนให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อจำเป็นต้องนำแบบ ป.4 (สลักหลัง) เพื่อไปออกเป็นแบบ ป.4 (ชื่อตนเอง) แต่ในกรณีนี้หากผู้ซื้อไม่นำแบบ ป.4 (สลักหลัง)ไปทำการออกแบบ ป.4 (ชื่อตนเอง) ที่อำเภอต้นทางอาวุธปืนดังกล่าวจะยังเป็นแบบ ป.4 ชื่อของผู้ขายอยู่ ดังนั้นในส่วนนี้ควรเป็นเรื่องที่นายทะเบียนท้องที่ต้องส่งเอกสารให้อำเภอต้นทางมากกว่าที่จะมอบให้ผู้ซื้อนำไปออกเป็นแบบ ป.4 (ชื่อตนเอง)

4.อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ทางสมาคมฯ เห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องและเป็นปัจจุบัน

5.การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกใบอนุญาต ทางสมาคมฯ เห็นว่า เรื่องดังกล่าวดีอยู่แล้ว จะมีปัญหาก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บุคคลนั้นๆ

6.การกำหนดจำนวนการอนุญาตให้มีอาวุธปืนต่อคน และการควบคุมตรวจสอบอาวุธปืนในระบบ แนวทางการควบคุมอาวุธปืนสวัสดิการข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทางสมาคมฯ เห็นว่า การกำหนดจำนวนการอนุญาตให้มีอาวุธปืนต่อคน อำนาจดังกล่าว เป็นอำนาจของนายทะเบียนผู้พิจารณาบุคคลผู้มีความเหมาะสมว่าจะมีอาวุธปืนจำนวนเท่าใด ซึ่งระเบียบเดิมเหมาะสมอยู่แล้ว อาวุธปืนปัจจุบันมิใช่เป็นเพียงอาวุธ แต่มีสภาพเป็นทรัพย์สิน ซึ่งมีบุคคลจำนวนมากสะสม และยังมีเพื่อการกีฬาหลากหลายประเภท ซึ่งใช้อาวุธแตกต่างกันในทุกประเภท

ส่วนการควบคุมตรวจสอบอาวุธปืนในระบบโดยปกติเมื่อมีการซื้อขายก็จะมีการออก แบบ ป.4 ซึ่งเป็นการควบคุมตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนอยู่แล้ว ในกรณีเมื่อนายทะเบียนมีเหตุสงสัยบุคคลใดที่มีการครอบครองอาวุธปืนผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย สามารถเข้าไปตรวจสอบบุคคลดังกล่าวได้ สำหรับแนวทางการควบคุมอาวุธปืนสวัสดิการข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในระยะเวลาที่ผ่านมามีการอนุมัติให้มีอาวุธปืนสวัสดิการให้แก่ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำนวนมาก และอาวุธปืนได้ถูกจำหน่ายออกไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากข่าวการเกิดคดีอาชญากรรม ซึ่งมีอาวุธปืนดังกล่าวเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทางสมาคมฯ มีความเห็นว่า ควรพิจารณาเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตซื้อปืนสวัสดิการให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ

7.การกำหนดเหตุผล ความจำเป็นในการออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน ทางสมาคมฯ อ้าง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๒๕/๒๕๔๐ ซึ่งเคยมีคำพิพากษาให้การพาไปโดยมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์สามารถกระทำได้ ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีบุคคลที่ยังมีความจำเป็นจะต้องพกพา อาวุธปืนเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินหรือเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ยังคงมีความจำเป็นจะต้องได้รับใบอนุญาต แบบ ป.12 อาทิเช่นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการเกษียณที่เคยปฏิบัติหน้าที่ปราบปราม ข้าราชการฝ่ายปราบปราม หน่วยราชการภาคปฏิบัติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่เสี่ยงภัย กลุ่มรักษาความปลอดภัย (รถขนเงินหรือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง)

โดยเสนอแนะแก้ มาตรา 8 ทวิ โดยเพิ่มข้อความให้เป็นไปตามกฎกระทรวง เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการพาอาวุธปืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างดังนี้

ข้อ 1 การพาอาวุธปืนดังต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นการพาอาวุธปืนติดตัวตามความในมาตรา 8 ทวิ คือ

(1) การพาอาวุธปืนโดยแยกเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ในลักษณะที่ไม่สามารถนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นมาใช้ได้ทันที

(2) การพาอาวุธปืนโดยบรรจุในกล่องกระเป๋า หีบห่อ หรือด้วยวิธีการอื่นใด ที่มีลักษณะอย่างเดียวกันและมีความแข็งแรงแน่นหนาในลักษณะที่ไม่สามารถนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นมาใช้ได้ในทันที

(3) การพาเฉพาะอาวุธปืนโดยไม่มีเครื่องกระสุนปืนที่สามารถใช้กับอาวุธปืนนั้นโดยมีเจตนาเพื่อต้องการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนสถานที่เก็บ

(4) การพาส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนโดยมีเจตนาเพื่อต้องการขนย้ายหรือซ่อมแซม

(5) การพาอาวุธปืนที่ไม่สามารถใช้การได้

การพาอาวุธปืนตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นการพาไปโดยมีเหตุจำเป็น และไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อ นมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด

ข้อ 2 การพาอาวุธปืนของนักกีฬาเพื่อฝึกซ้อม หรือแข่งขันต้องปฏิบัติตามข้อ 1 โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) การพาเพื่อการฝึกซ้อมต้องมีหลักฐานการเป็นสมาชิกของสนามยิงปืน และต้องพกพาเฉพาะเวลา และเส้นทางที่จะไปฝึกซ้อมเท่านั้นเมื่อฝึกซ้อมแล้วต้องแยกเครื่องกระสุนปืนออกจากอาวุธปืน และจัดเก็บใส่กระเป๋าที่ปิดมิดชิดและแน่นหนา

(2) การพาเพื่อการแข่งขัน ต้องมีหลักฐานการเป็นนักกีฬา กำหนดการแข่งขันของสมาคมกีฬายิงปืน และรายชื่อผู้แข่งขัน โดยระยะเวลาในการเดินทางต้องมีความเหมาะสม

8.ปัญหาการลักลอบนำเข้า และการจำหน่ายอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนทั้งในและต่างประเทศ ทางสมาคมฯ เห็นว่า การนำเข้าอาวุธปืนต้องมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งผู้นำเข้าและส่งออกจึงเป็นการยากมากที่จะมีการลักลอบนำเข้ากระทำได้ไม่มากเว้นแต่เป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการ แบบ ป.2

9.การควบคุมตรวจสอบการซื้อขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดจนการแสดงการครอบครอง และการใช้อาวุธปืนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ทางสมาคมฯ เห็นว่า การซื้อขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการฯ ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะจำหน่ายตามใบอนุญาต ส่วนการซื้อขายอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนผ่านช่องทางออนไลน์ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทางรัฐต้องเข้าไปควบคุมจัดการดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้เป็นภัยต่อสังคม

10.ปัญหาการยังไม่มีกฎหมายกำหนดการจัดเก็บรายละเอียดของอาวุธปืน เกี่ยวกับการเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน ทางสมาคมฯ เห็นว่า ควรให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน ในทุกครั้งหลังจากมีการทำเครื่องหมายทะเบียนซึ่งการจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน ก็เพื่อเป็นฐานข้อมูลเพื่อสืบหาในอนาคตว่าปืนกระบอกใด เป็นปืนที่ใช้ในการกระทำความผิด ทำให้หาตัวผู้กระทำความผิดได้โดยรวดเร็วขึ้นอันเป็นการส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีประสิทธิภาพ

11.การกำหนดความผิด และโทษเกี่ยวกับการนำสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถทำให้หลงเชื่อได้ว่าเป็นอาวุธปืนไปใช้ข่มขู่หรือก่อเหตุร้าย ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ และกฎหมายอื่นที่มีบทกำหนดความผิด และโทษทางอาญา ทางสมาคมฯ เห็นว่า การนำสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถทำให้หลงเชื่อได้ว่าเป็นอาวุธปืนไปใช้ข่มขู่หรือก่อเหตุร้ายเห็นควรว่า โทษที่มีในปัจจุบันนั้นอัตราโทษน้อยเกินไปไม่ทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว ควรมีการปรับบทลงโทษเพิ่มขึ้นเทียบเท่าการใช้อาวุธปืนจริง

นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เรื่อง พ.ร.บ.อาวุธปืนต้องมีนิยามคำว่า ชิ้นส่วนอาวุธปืน เพื่อให้มีการสั่งนำเข้า ชิ้นส่วนเข้าเพื่อซ่อมบำรุงได้ และยังถือเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตให้นำเข้า ส่วนสนามยิงปืน ควรต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อาวุธปืนเช่นกัน เนื่องจากมีการนำเข้ากระสุนปืนและจำหน่ายกระสุนให้แก่สมาชิก ทางเจ้าหน้าที่ควรมีการกำหนดและควบคุม ซึ่งคณะกรรมาธิการการปกครอง และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุม การครอบครอง การจำหน่าย การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน ได้รับข้อเสนอดังกล่าว ทั้ง 11 มาตรการเอาไว้ ก่อนรายงานผลให้สภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป.






กำลังโหลดความคิดเห็น