ไทย-สหรัฐฯ แถลงร่วมปฏิบัติการกู้ รล.สุโขทัยแบบจำกัด ช่วง 19 ก.พ.-4 มี.ค. ค้นหาผู้สูญหาย 5 นาย นำหลักฐานสอบสวนข้อเท็จจริงและยุทโธปกรณ์ขึ้นมา “ทูตโกเดค” หวังได้บทสรุปให้แก่ครอบครัวผู้สูญหาย ด้าน ผบ.กองเรือยุทธการเผยไม่ให้สหรัฐฯ ช่วยแต่แรกเพราะของบรัฐบาลไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีบริษัทผ่านการประมูล และงบปี 67 มีเวลากระชั้นชิด การกู้เองคงยกแล้ว ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ครั้งนี้จึงตอบโจทย์
วันนี้(2 ก.พ.) พลเอก ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และ นาย โรเบิร์ต เอฟ.โกเดค (Robert F.Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมด้วย พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้แทนจากกองทัพเรือ แถลงข่าวการร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพไทย โดยไฮไลต์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้จะมีการเปิดปฏิบัติการกู้เรือรบหลวงสุโขทัยแบบจำกัด ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับกองทัพเรือไทย
นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F.Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุว่า การฝึกคอบร้าโกลด์มีส่วนสนับสนุนความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลายด้าน นำไปใช้กับภารกิจจริงอย่างเช่นภารกิจของกองทัพอากาศไทยในการอพยพคนไทยจากซูดานเมื่อเดือนเมษายนปี 2566 และในปีนี้กองทัพเรือสหรัฐฯ จะร่วมกับกองทัพเรือไทยปฏิบัติการกู้เรือรบหลวงสุโขทัยแบบจำกัด จะดำเนินการภายใต้การฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภารกิจนี้จะนำมาซึ่งกำลังใจ และข้อสรุปให้แก่ครอบครัวของทหารเรือและนาวิกโยธินผู้กล้าหาญทั้งหมดที่สูญหายไป โดยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ร่วมกันอย่างปลอดภัย และละเอียดถี่ถ้วน
ด้าน พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เปิดเผยถึง ความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในการสำรวจเรือหลวงสุโขทัยและปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย ภายหลังการแถลงข่าวการฝึกร่วมผสม คอบร้าโกลด์ ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ โดย กองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้มีการหารือแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ซึ่ง กองทัพเรือสหรัฐ ยินดีสนับสนุนการดำเนินการให้กับ กองทัพเรือ
โดย พล.ร.อ. แซมมูเอล เจ พาพาโร่ ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา (PACFLT) ได้มีหนังสือยืนยันมายัง กองทัพเรือ แล้ว ในการฝึก Cobra Gold2024 ในครั้งนี้ ในส่วนของกองกำลังทางเรือ จะมีความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือสหรัฐ ในการดำน้ำสำรวจเรือหลวงสุโขทัย อย่างละเอียด เพื่อยืนยันสมมุติฐานในเรื่องสาเหตุการจม การสำรวจวัตถุพยานประกอบผลการสอบสวน การสำรวจทหารที่สูญหายที่คาดว่าติดในเรือ และการจัดการกับวัตถุที่เป็นอันตราย
ขณะที่ พล.ร.อ.ชาติชาย ย้ำว่า การกู้เรือรบหลวงสุโขทัยแบบจำกัดตามที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุนั้น คือการกู้เรือแบบ Light Savage ซึ่งคำว่า Light savage ที่สหรัฐฯ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย มี 4 เรื่อง ได้แก่ การค้นหาผู้สูญหายจำนวน 5 คน /การลงไปสำรวจหลักฐานใต้น้ำ เพื่อน้ำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริง /การทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ หมดความสามารถที่จะใช้งานต่อไป และกองทัพเรือจะนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางอย่างขึ้นมา
สำหรับปฏิบัติการกู้เรือรบหลวงสุโขทัยแบบจำกัดในช่วงการฝึกอบร่าโกจะอยู่ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ถึง 4 มีนาคม 2567 โดยกองทัพเรือไทยจะเป็นผู้อำนวยการในภาพรวม และกองทัพเรือสหรัฐฯ จะสนับสนุนการปฏิบัติ ส่วนกำลังที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ ในส่วนของกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 18 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD 40 นาย ในขณะที่กองทัพเรือสหรัฐ ได้ส่ง เรือ Ocean Valor พร้อม เจ้าหน้าที่ EOD 20 นาย สนับสนุนปฏิบัติการในครั้งนี้
พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติการ กำลังทั้งสองประเทศและมาตรฐานของเครื่องมือและวิธีการเดียวกัน และ มีความคุ้นเคยจากการฝึกร่วมกันมาอย่างต่อเนือง โดยทั้งสองฝ่ายจะยึดถือมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ จึงคาดว่า การปฏิบัติน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยในขณะนี้ กองทัพเรือไทย และ กองทัพเรือสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการวางแผนการปฏิบัติร่วมกัน คาดว่าจะได้รายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น และจะแจ้งความคืบหน้า ให้ทราบอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ยังได้ระบุถึงสาเหตุที่ไม่ให้สหรัฐ เข้ามาช่วยเหลือในการกู้เรือตั้งแต่แรก เนื่องจากกองทัพเรือ ได้ของบประมาณในการกู้เรือจากรัฐบาลไปแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 โดยกองทัพเรือได้งบประมาณของรัฐบาลมาดำเนินการ และกองทัพเรือมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการกู้เรือขึ้นมาได้ทั้งลำ โดยข้อเสนอต่างๆ ที่ดำเนินการในขณะนั้น ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพเรือได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติในการกู้เรือ เข้ามาเสนอราคาโดยเปิดโอสกาส 2 ครั้งด้วยกัน แต่ยังไม่มีบริษัทใดผ่านการพิจารณาของกองทัพเรือ ทำให้กองทัพเรือรู้สึกว่าการจ้างบริษัทมากู้เรือเป็นเรื่องยาก ประกอบกับงบประมาณประจำปี 2566 มีระยะเวลาในการใช้และระยะเวลาในการเบิกจ่าย ซึ่งต้องดำเนินการก่อนเดือนกันยายน 2567 และสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอมา และสิ่งที่กองทัพเรือได้พูดคุยกับสหรัฐฯ ทั้งสิ่งที่กองทัพเรือเสนอขอและสหรัฐยื่นข้อเสนอมา ถือเป็นสิ่งที่บรรลุวัตถุประสงค์ของเรา กองทัพเรือจึงได้ตัดสินใจร่วมมือกับสหรัฐฯ และเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ผบช.กองเรือยุทธการ ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีบริษัทจากประเทศจีน ได้รับเลือกเข้ามากู้เรือรบหลวงสุโขทัยก่อนหน้านี้ ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีบริษัทใดได้รับการคัดเลือก
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ นับเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่ และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่งใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา จะมาช่วยในการกู้เรือหลวงสุโขทัยและอาจส่งผลให้กองทัพเรือไม่ต้องใช้งบประมาณในการกู้เรือ โดยจะคืนงบฯ และสำรวจด้วยว่าอาจมีร่างของ 5 กำลังพลที่สุดท้ายติดอยู่ในเรือหรือไม่ และ อาจไม่ต้องกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาแล้ว แต่จะปล่อยให้เป็นอนุสรณ์อยู่ใต้ทะเล และเป็นที่อยู่ของปะการัง หากหลักฐานที่ทางสหรัฐฯ สามารถนำขึ้นมาใช้ประกอบสรุปผลการสอบสวนสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางได้
ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวด้วยว่า ในช่วงการฝึก CobraGold 2024 ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้สหรัฐฯ จะใช้ทีมที่มาฝึกในการดำลงไปถ่ายภาพ และเก็บอาวุธยุทธโธปกรณ์ปืนต่างๆ ที่อยู่ในเรือขึ้นมา แล้วจะเก็บหลักฐานเพื่อมาประกอบสรุปผลการสอบสวนสาเหตุอับปาง เนื่องจากเรือหลวงสุโขทัยถือเป็นเรือที่จัดซื้อในโครงการความช่วยเหลือทางการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐ (FMS) และไทยกับสหรัฐฯ มีข้อตกลงในเรื่องจะต้องรายงานสหรัฐฯ และให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมรับรู้ในเรื่องต่างๆ ด้วย