xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” จี้ “เศรษฐา” ต้องมาตอบปมซักฟอก เผย มีแน่ทั้งรีดสินบนอธิบดีกรมการข้าว-หมูเถื่อน-ตีนไก่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เสรี” จี้นายกฯ ต้องมาแจงซักฟอก ม.153 ด้วยตัวเอง ย้ำ ขออภิปรายเดือน ก.พ. กังวลหากยื้อออกไปกลัวหมดสมัยประชุมก่อน เผย มีแน่ทั้งรีดสินบนอธิบดีกรมการข้าว-หมูเถื่อน-ตีนไก่ ชี้ เรื่องสินบนมีมาตลอดแบบบีบบังคับให้ ปชช.ต้องจ่าย

วันนี้ (29 ม.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงความคืบหน้าหลังยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ต่อประธานวุฒิสถาแล้ว ว่า ประธานวุฒิสภาได้นำญัตติดังกล่าวเข้าที่ประชุมวิปวุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อที่จะดำเนินการประสานงานกับ ส.ว.ที่จะอภิปรายในญัตติดังกล่าว และรวบรวมประเด็นที่ ส.ว.แต่ละคนจะอภิปราย ซึ่งตอนนี้ได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อที่จะได้เห็นประเด็นที่ชัดเจนขอสว.แต่ละคนที่จะอภิปราย และเพื่อจัดลำดับการอภิปรายให้ครอบคลุมประเด็นใน 7 ข้อและรัฐบาลจะได้จัดรัฐมนตรีมาชี้แจง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ถ้าเป็นไปได้ขออภิปรายเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่รัฐบาลจะพร้อมและแจ้งกำหนดวันที่สะดวกในวันใด ทางตนได้เสนอแนวทางว่าขออภิปราย 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคาร เนื่องจากเป็นวันประชุมวุฒิสภาอยู่แล้ว ส่วนวันอังคารอาจจะมีปัญหาเนื่องจากเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น ครม.ต้องจัดรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี จะมาชี้แจงเองก็แล้วแต่ แต่โดยเหตุผลและปัญหาแล้วนายกรัฐมนตรีควรจะมาชี้แจงเองเพราะเป็นการอภิปรายและพูดกับรัฐบาลถ้าหัวหน้ารัฐบาลไม่มาก็อาจจะทำให้ความชัดเจนของเนื้อหาที่จะตอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เห็นนโยบายที่แท้จริงของรัฐบาล ดังนั้นจึงหวังว่านายกฯจะมาชี้แจงด้วยตัวเอง

นายเสรี กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดผู้อภิปรายมีสมาชิกมาแสดงความจำนงหลายคนเพียงแต่เราต้องการประเด็น และเวลาชัดเจน โดยผู้อภิปรายจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆและมีข้อมูลที่จะบอกกับรัฐบาลว่าควรจะต้องทำอย่างไร เช่น นายถวิล เปลี่ยนศรี นายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นหลักฐานเราจึงต้องทำหนังสือแบบฟอร์ม ให้สมาชิกแสดงความจำนงอภิปราย ซึ่งตอนนี้สว.ที่มาแสดงความจำนงที่จะอภิปรายมีหลายสิบคนแล้ว

เมื่อถามว่า ตอนนี้ตัวญัตติยังไปไม่ถึงรัฐบาล ห่วงหรือไม่ว่าจะดึงให้ไปอภิปรายพร้อมกับช่วงที่ ส.ส.อภิปราย ซึ่งอาจจะเป็นเดือนมี.ค. หรือ เม.ย. นายเสรี กล่าวว่า อยู่ที่สะดวก ความจริงใจ และสุจริตใจ ในการที่จะมาร่วมกันทำหน้าที่เหล่านี้ เพราะระยะเวลาที่สภาจะครบสมัยประชุม คือ วันที่ 9 เม.ย. ดังนั้น ควรต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.พ.หรือ มี.ค. แต่ ส.ว.ไม่อยากให้ชักช้า ถ้าหากอภิปรายในดือน ก.พ.ได้ ก็ถือว่าสะดวกและไม่ไต้องไปเสี่ยงกับช่วงที่จะหมดสมัยประชุม

เมื่อถามว่า ล่าสุด มีความเห็นจากนิด้าโพลที่ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้ชะลอโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไว้ก่อน ซึ่งสอดรับกับในญัตติของ ส.ว.ด้วย นายเสรี กล่าวว่า ใช่ เพราะจริงๆ เป็นเรื่องต่อเนื่องกันจากเรื่องของการแจกเงินดิจิทัล เป็นเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ยั่งยืน ไม่เป็นภาระของประเทศ ซึ่งขณะที่ ส.ว.ยื่นญัตติดังกล่าวรัฐบาลก็ยังยืนยันที่จะทำโครงการนี้อยู่ จึงเป็นเรื่องที่จ้องพูดคุยกันในสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างไร ที่ล่าสุดมีคนของรัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จากอธิบดีกรมการข้าว ประเด็นนี้จะนำไปสู่การอภิปรายด้วยหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ประเด็นนี้มีอยู่ในหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหลายเรื่องทั้งเรื่องหมูเถื่อน ตีนไก่ ที่เป็นการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย และต้องยอมรับว่าการบริหาราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน แม้กระทั่งประเด็นที่นำเสนอเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น รวมถึงการาทุจริตของภาครัฐอยู่ในการตรวจสอบ ซึ่งเราต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพูดกัน เพราะไม่ใช่มีแค่นี้

“จริงๆ แล้วเรื่องรับสินบน เกิดขึ้นตลอด แม้กระทั่งในช่วงเวลานี้ ประชาชนที่สัมผัสกับหน่วยงานราชการ ที่ให้บริการประชาชนถูกเรียกเงินกันมาตลอด และการเรียกเงินเขาเรียกแบบบีบบังคับ ให้ประชาชนยอมจ่ายให้ โดยมีวิธีการที่เจ้าหน้าที่เองไม่ได้เป็นคนเรียก แต่ใช้กระบวนการในการใช้อำนาจหน้าที่แล้วให้ประชาชนยอมจ่ายให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกัน” นายเสรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น