xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งตั้ง "องครักษ์พิทักษ์คดีผู้ว่าฯ" หวั่น! ติดตัวยันเกษียณ หลัง "พ่อเมือง" ตัวเป้ง บ่น ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ถูก ม.157

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มท.สั่งตั้ง "องครักษ์พิทักษ์ คดีผู้ว่าฯ" หวั่น! ติดตัวยันเกษียณ ดึง "ปลัดจังหวัด" หัวหน้าทีม นั่งศูนย์อำนวยความเป็นธรรม เฉพาะคดีผู้ว่าฯ ให้ความเป็นธรรม อุทธรณ์คดี ทำความเห็นแย้งคดี แนะเพิ่มเป็นภารกิจศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หลัง "ผู้ว่าฯ" ตัวเป้ง บ่น ต้องมารับผิดชอบ แม้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่กลับได้รับหมายศาล "เป็นจำเลย" ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

วันนี้ (22 ม.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้า ต่อนโยบายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย เพื่อฟื้นผู้ว่าซีอีโอ ด้วยการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด

ล่าสุด ที่ประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม 2567)

มีข้อสั่งการ ให้จัดตั้งหน่วยอำนวยความเป็นธรรมเพื่อทำหน้าที่เป็น Staff ให้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด

ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดตั้งหน่วยงานภายในเพื่อทำหน้าที่เป็น Staff ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยความเป็นธรรม การอุทธรณ์คดี และการทำความเห็นแย้งคดีของผู้ว่าราชการจังหวัด

โดยมอบหมายให้ปลัดจังหวัดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ และบูรณาการบุคลากรจากนิติกรของสำนักงานจังหวัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในการทำงาน

ทั้งนี้ ให้กำหนดเป็นภารกิจภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยจะต้องมีการมอบหมายงานที่ชัดเจน และจัดสถานที่ให้มีความเหมาะสม

มีรายงานว่า แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้น ภายหลังมีเวทีหารือกับผู้ว่าราชการจังหวดทั่วประเทศ ต่อการ "ฟื้นนโยบาย" ขับเคลื่อน "ผู้ว่าฯ CEO" หรือ การบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด แบบบูรณาการ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

โดยผู้ว่าฯ จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน เห็นว่า อำนาจของผู้ว่าฯ ในปัจจุบัน มีทั้งขาดและเกิน

กรณี "อำนาจที่ขาด" เช่น ปัญหา PM 2.5 ในภาคอีสาน กรณีหลายจังหวัดในอีสาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อย ก่อนส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา ในแต่ละปีรัฐบาลก็จะสั่งการให้ผู้ว่าฯ ไปทำความเข้าใจกับประชาชน หรือจับกุมผู้ที่เผาอ้อย

แต่ผู้ที่กำกับดูแลนโยบายการรับซื้ออ้อยของโรงงานอุตสาหกรรม คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย ทำให้ ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ส่วน "อำนาจที่เกิน" เช่น ปัญหา ท่าทรายในจังหวัดอีสาน ติดประเทศเพื่อนบ้าน กรมศุลกากร อนุญาตเปิดท่าทรายไว้นำเข้าทรายที่ดูดจากแม่นํ้า เนื่องจากเป็น อำนาจของกรมศุลกากร แต่ไม่ได้แจ้งให้ทางจังหวัดทราบ

ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานในจังหวัด เช่น หน่วยงานความมั่นคง หรือ อปท.ที่ต้องบำรุงรักษาถนนที่ซำรุดเสียหายจากการผ่านทางของรถบรรทุกทราย เป็นต้น

"จนเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ทำให้ผู้ว่าฯ ต้องมารับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ก.พ.ร. ควรพิจารณาออกกฎหมายคุ้มครอง ผู้ว่าฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยสุจริต"

เช่นช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯนในจังหวัดนี้ ได้ปกป้องที่สาธารณะ ที่มีมูลค่าสูงบริเวณริมแม่นํ้าโขงไว้เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ โดยได้สั่งการให้อำเภอและสำนักงานที่ดินจังหวัดดูแล ที่สาธารณะแห่งนี้

แต่ปรากฏภายหลังว่า ตนได้รับหมายศาล "เป็นจำเลย" กรณี ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นต้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น