ส.ส.พท.ตบเท้ายื่นร่างแก้ รธน. หวังเปิดช่อง ส่งศาล รธน. ชี้ขาดทำประชามติกี่ครั้ง “ชูศักดิ์” มองควรทำประชามติ 2 ครั้ง ย้ำ ไม่ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาล รธน. พร้อมจ่อเสนอแก้ กม.ประชามติ 3 ประเด็น
วันนี้ (22 ม.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงต่อการเข้าชื่อเพื่อยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 ว่าด้วยเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ เพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่ละจังหวัด ซึ่งการยื่นร่างแก้ไขดังกล่าว ได้ดำเนินการ ยื่นต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เมื่อ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ แถลงว่า คณะทำงานของพรรคเพื่อไทย เห็นว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเป็นการเปิดช่องให้นำไปสู่การหาข้อยุติอย่างชัดเจนว่า ควรทำประชามติกี่ครั้ง เนื่องจากมีประเด็นความเห็นที่ขัดแข้งระหว่างการทำหน้าที่ในรัฐสภา ว่าสามารถพิจารณาเนื้อหาได้ก่อนการนำไปออกเสียงประชามติ หรือ ต้องทำประชามติก่อนรัฐสภาแก้ไขเนื้อหา ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถนำเรื่องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด เพราะคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย มองว่าควรทำประชามติ เพียง 2 ครั้ง เพื่อประหยัดงบประมาณและไม่สิ้นเปลืองเวลา ส่วนกรณีที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของรัฐบาล ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานนั้น อยู่ระหว่างการทำรายงานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นพบข้อเสนอเกี่ยวกับจำนวนครั้งในการทำประชามติ คือ 3 ครั้งด้วย
“ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีเจตนาอื่น นอกจากการหาช่องเพื่อส่งเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าด้วยารออกเสียงประชามติ ซึ่งวิธีการดังกล่าว คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยคิดว่า แบบนี้ถือเป็นช่องทางที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ไม่ใช่ประเด็นที่จะขัดกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ” นายชูศักดิ์ แถลง
นายชูศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า คณะทำงานของพรรคเพื่อไทย มีแนวคิดต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เช่นกัน เบื้องต้นได้ยกร่างแล้วเสร็จ และเตรียมเสนอเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ ส.ส.ของพรรรคร่วมลงชื่อก่อนส่งให้ประธานสภาฯ ต่อไป สำหรับประเด็นที่แก้ไขนั้นมี 3 ประเด็น คือ
1. การออกเสียงประชามติให้ยึดเสียงข้างมากธรรมดา โดยมีเงื่อนไขว่าเสียงข้างมากกดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าเสียงที่ประสงค์ไม่ลงคะแนน
2. กำหนดให้การออกเสียงประชามติ สามารถดำเนินการไปพร้อมกับกับการเลือกตั้งทุกระดับได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และ3.ช่องทางการออกเสียงประชามติ สามารถทำได้ด้วยกระบวนการอื่นๆ เช่น ทางไปรษณีย์ นอกเหนือจากการออกไปหย่อนบัตรเท่านั้น