“ศิริกัญญา” แนะ “รัฐบาล” อยู่นิ่งๆ คิดทบทวนอีกสักครั้ง หลัง ป.ป.ช.ส่งสัญญาณเตือนดิจิทัลวอลเล็ต ดักคออย่าพิงองค์กรอิสระ ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากโครงการไม่ได้ไปต่อ
วันนี้ (17 ม.ค.) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งความเห็นถึงรัฐบาลกรณีออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า เป็นเพียงคำแนะนำ รับฟังไว้แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม เรื่องการดำเนินนโยบายเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่ได้เป็นข้อกฎหมายอะไรที่จำเป็น ขอให้องค์กรอิสระ ทำงานในกรอบหน้าที่ของตนเอง หลายเรื่องที่มองแล้ว ก็รู้สึกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้วยซ้ำ แต่หากเป็นข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์รัฐบาลก็ควรรับฟัง แต่ไม่ควรมาเป็นจุดอ้างอิง ว่า ที่เราไม่ได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะ ป.ป.ช. ให้ความเห็นแบบนี้ ตนอยากให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากโครงการนี้ไปต่อไม่ได้ ก็ให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ไม่ต้องเอาหลังพิงองค์กรอิสระ
“ดิฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงต้องมีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวานนี้ ทั้งที่ความเห็นของ ป.ป.ช. ก็คือ ความเห็นของ ป.ป.ช. ถ้าเราสามารถพิจารณากันได้เองโดยไม่ใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เป็นจุดเด่นควรจะรับฟัง แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนจุดตายของโครงการนี้ว่าจะไปต่อได้หรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ส่วนที่ ป.ป.ช. ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ถึงจุดวิกฤต แต่มีความเสี่ยงจากหลายด้าน โดยอ้างอิงจากนิยามธนาคารโลก 7 ประเภท อันที่จริงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่เข้าขั้นแม้แต่ข้อเดียว เหมือนเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ตนเคยพูดมาแล้ว แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านพูดน้ำหนักก็อาจจะฟังดูน้อย และแฝงไปด้วยนัยยะทางการเมือง หลายเรื่องที่ระบุใน ป.ป.ช. ก็เป็นเรื่องที่ต้นเคยพูดมาแล้ว
เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไร หากไม่ออกเป็น พ.ร.บ. เงินกู้แล้ว แต่ใช้งบกลางจาก ปี 68 จะมีปัญหาอีกหรือไม่นั้น ก็เป็นทางที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่งบฯ 68 ก็จะเข้ากรณีเดียวกับงบฯ 67 คือ ไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการ 500,000 ล้าน ต้องตัดเข้าไปในส่วนงบลงทุนด้วยซ้ำไป ถ้ายังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างงบประมาณให้แล้วเสร็จ และลดขนาดโครงการให้เล็กลง พอยัดเข้าไปในงบฯ 68 ได้ ก็เป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุดที่สามารถทำได้ ตนเข้าใจว่า เมื่อวานนี้ มีการพูดคุยกันในเรื่องกรอบงบประมาณ ปี 68 ทางสำนักงบประมาณก็คงจะได้พูดคุยกับทางรัฐบาลเรียบร้อยแล้วว่าโครงการนี้จะบรรจุเข้าไปในงบฯ ปี 68 ได้หรือไม่
เมื่อถามว่า ทางลงที่ดีที่สุดของรัฐบาล คือ การยุติโครงการเติมเงิน ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คงมีโอกาสที่จะทำได้ โดยการลดขนาดโครงการให้เล็กลง และพยายามใช้วิธีการแนวทางที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อน หรือจะไปแก้ไข พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2542 ว่า ในกรณีที่รัฐบาลอยากจะกู้เงิน ประเทศอาจไม่จำเป็นต้องวิกฤตก็ได้ ซึ่งรัฐบาลก็คุมเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว ก็อาจจะทำได้ในรัฐบาลนี้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า แต่หากรัฐบาลยังดื้อดึงใช้เงื่อนไขเดิมทั้งหมด จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่นั้น ตนคิดว่า มีปัญหาแน่ๆ ขณะนี้ติดล็อกทางกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไร สุดท้ายแล้ว คนที่จะลุยไปด้วยกันไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ทางสภาก็ต้องโหวตให้กฎหมายที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ข้าราชการที่มีส่วนร่วมในการลงมติ และคณะกรรมการ ต้องลงมาอยู่ในร่างแหนี้ด้วย ตนอยากให้รัฐบาลคิดทบทวนว่าจะหาทางลงให้โครงการนี้อย่าไรดี
ส่วนที่มีความกังวลว่าจะซ้ำรอยกับโครงการจำนำข้าวนั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่สามารถเทียบเคียงกับโครงการจำนำข้าวได้เลย ถ้าจะเทียบเคียงคงต้องเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้มีใครได้รับผลกระทบทางกฎหมาย ยกเว้นคนที่เสียบบัตรแทนกันคนเดียว
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านจะแนะนำอะไรกับรัฐบาล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ คิดทบทวนอีกสักครั้งหนึ่ง อย่างถี่ถ้วน ว่า มีโอกาสที่จะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง ตอนที่หาเสียงยังมีอำนาจรัฐยังไม่มีแขนขาที่เป็นข้าราชการอาจจะคิดไม่ออกว่าจะต้องทำด้วยวิธีการใด และคิดว่าจะต้องกระตุ้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด ระหว่างนี้ตนยังเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี มีการเติบโตต่ำ ถึงจะไม่วิกฤต แต่ก็ยังมีปัญหาที่จำเป็นจะต้องแก้ในระยะสั้นและแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว ดังนั้น เรื่องอะไรที่ต้องทำทันทีต้องทำได้แล้ว อย่ามัวแต่รอดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทำสักที เพราะถ้าเกิดวิกฤตจริงก็รอไม่ได้
“รัฐบาลต้องทำอะไรซักอย่าง เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แม้ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม เราคิดว่า ล่าช้าเกินไปและต้องมาลุ้นอีกว่าจะทำหรือไม่ได้ทำ ควรต้องเริ่มทำสักทีด้วยงบกลางตอนนี้แม้จะมีอยู่น้อย ก็ต้องออกโครงการอะไรขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าการจับจ่ายใช้สอยมันคล่องตัวมากขึ้นแล้ว” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว