คปท.ยื่น ป.ป.ช.ทวงตั้ง คกก.ไต่สวนเอาผิด ม.157 ขรก. เอื้อ “ทักษิณ” นอน รพ.ตำรวจ พร้อมยื่นเพิ่ม ให้สอบอธิบดีราชทัณฑ์ ด้าน “นิวัติไชย” ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมเชิญหน่วยงานแจง
วันนี้ (16 ม.ค.) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำ คปท. ยื่นหนังสือต่อ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอทราบความคืบหน้ากรณีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ได้ยื่นร้องเรียนขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตั้งคณะทำงานขึ้นไต่สวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และนายแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า เหตุใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีการรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ป.ป.ช.มีการดำเนินการคืบหน้าไป
อย่างไรบ้าง มีการตั้งคณะไต่สวนเบื้องต้น หรือกำหนดประเด็นการไต่สวนอย่างไร พร้อมทั้งขอให้เร่งดำเนินการทางคดีอย่างเร่งด่วนและยื่นเพิ่มเติมในวันนี้ขอให้พิจารณาไต่สวนดำเนินคดีกับ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนปัจจุบัน ว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่เร่งนำตัวผู้ต้องขังกลับเรือนจำ หรือร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
ด้วยการขยายเวลารักษาตัวนอกเรือนจำของนักโทษเด็ดขาดนายทักษิณ ทั้งที่เป็นเพียงการเฝ้าระวังอาการ ซึ่งไม่มีเหตุผลและระเบียบให้นอนรักษาตัวต่อนอกเรือนจำ
หลังเสร็จสิ้นการหารือกว่า 20 นาที นายนิวัติไชย กล่าวว่า นับตั้งแต่รับเรื่องดังกล่าวมา ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร้องเรียนด้วยเช่นกัน ทาง ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำตามกระบวนการ ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจรับ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้มีหนังสือไปถึงหลายหน่วยงาน เช่น กรมราชทัณฑ์, เรือนจำ และโรงพยาบาลตำรวจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำประกอบการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งก็มีบางหน่วยงานได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกลับมาแล้ว
ส่วนกรอบเวลาดำเนินการจะอยู่ที่ 180 วัน แต่โดยหลักแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กรอบระยะเวลา เป็นเพียงกรอบเร่งรัดของเจ้าหน้าที่ เพราะเรื่องนี้จะต้องนำข้อเท็จจริงมาตรวจสอบก่อน ว่า มีหลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา และกฎระเบียบเป็นอย่างไร หลังจากนี้จะเชิญหน่วยงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำ และหากได้ข้อสรุปว่าจะมีการชี้มูลความผิดหรือไม่ ก็จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบต่อไป
ด้าน นายพิชิต กล่าวว่า การหารือในวันนี้ ได้พูดถึง 2 เรื่องที่ได้มีการยื่นไป เรื่องแรก ได้รับคำชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ร้องกล่าวโทษอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน ในประเด็นการรักษาตัวของนายทักษิณ 120 วัน และการขยายเวลาการนอนรักษาตัว โดยอ้างเหตุการเฝ้าระวัง ซึ่งการเฝ้าระวังไม่ได้อยู่ในระเบียบของการนอนรักษาตัวนอกเรือนจำ ดังนั้น การทำในลักษณะดังกล่าว อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะที่ นายนัสเซอร์ กล่าวถึงการรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา ตรวจสอบก่อนยื่นเรื่องต่อประธานศาลฏีกา เพื่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนการทำงานของ ป.ป.ช. นั้น ตอนนี้ยังคงดำเนินการอยู่ และภารกิจที่จะไปตามพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงเหมือนเดิม
ส่วนการรวบรวมเสียง 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ 150 คน เพื่อเสนอประธานรัฐสภา ประธานยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกา เพื่อให้ตั้งคณะทำงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. นั้น ก็กำลังประสานไปยังพรรคฝ่ายค้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงของการหารือกับคนที่ประสานงาน
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ ว่า จะสามารถรวบรวมได้ถึง 2 หมื่นรายชื่อตามเป้าหมาย นายนัสเซอร์ กล่าวว่า จะถึงเป้าหรือไม่ มันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าประชาชนจะร่วมรักษา และยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยให้ดำรงอยู่หรือไม่