เมืองไทย 360 องศา
ข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากกรณีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกัน
ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ ในกรณีนี้อาจต้องมองข้ามในเรื่องที่ว่าใครถูกใครผิด เนื่องจากมุมมองทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง อาจต่างกันรวมไปถึงบทบาทหน้าที่ และความจำเป็นทางการเมือง
โดยก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน ออกมาคัดค้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทย ติดลบติดต่อกันหลายเดือนโดยกล่าวว่า ความจริงแล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า “ผมไม่เห็นด้วย” แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น
“นัยที่ผมได้โพสต์ข้อความไปนั้น มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตรพืชผลต่างๆ ที่ผมอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก”
จากนั้น นายเศรษฐา ได้เรียกว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงสถานการณ์เงินเฟ้อและดอกเบี้ย
ต่อมาหลังการพูดคุย นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ได้คุยกับผู้ว่าฯธปท. หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต และเรื่องดอกเบี้ย ผลดีผลเสีย ตนพยายามจะบอกถึงสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง และเรื่องของภาคธุรกิจต่างๆ ความเดือดร้อนของประชาชนทางด้านหนี้สิน ซึ่งทางผู้ว่าฯธปท.ก็ได้บอกว่าท่านได้ทำอะไรอยู่บ้าง อย่างเช่น การแก้ปัญหาหนี้สินระยะยาว ซึ่งกำลังทำอยู่ ตนยังบอกว่าเรื่องเหล่านี้ เวลาเรามากินกาแฟที่นู่นที่นี่ ฝากให้ท่านนัดมา ให้ตนไปที่ ธปท. ที่บางขุนพรหมก็ได้ จะได้พูดคุยกัน เพราะบางหน่วยงานก็ต้องการคุยเรื่องอื่นด้วย ซึ่งจะได้มีการพูดคุยกันได้ต่อเนื่อง
ถามว่า เรื่องดอกเบี้ยมีสัญญาณจากผู้ว่าฯ ธปท.หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่ายท่าน เพราะ ธปท.ก็เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ พูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้ไปสั่งหรืออะไร เพียงแค่อธิบายเหตุผลให้ฟังในเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม ในแง่ของเหตุการณ์ต่างประเทศ สถานการณ์ของเงินเฟ้อทั้งหมด ก็พยายามพูดคุยกัน
ส่วนเรื่อง เงินเฟ้อติดลบ ทางผู้ว่าฯธปท.ให้ความเห็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวให้ทาง ธปท.เป็นคนแถลงเองดีกว่า ตนให้เกียรติท่าน เราพูดคุยกันเกี่ยวกับหัวข้อใหญ่ๆ มากกว่า เมื่อถามอีกว่า มีแนวโน้มที่ดีเรื่องดอกเบี้ยหรือไม่
นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนคิดว่าแนวโน้มที่ดีอยู่ที่ใครมองอย่างไร อะไรคือแนวโน้มที่ดี แนวโน้มที่ดีคือ ต้องมีการพูดคุยกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ท่าทีของ นายเศรษฐา ทวีสิน ก่อนและหลังการพบกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ความหมายที่แสดงออกมาให้เห็นก็คือ ไปทางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและยอมรับอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการ บริหารงานโดยอิสระ รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ซึ่งในทางสาธารณะย่อมต้องแสดงออกแบบนั้นอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันถึงผลกระทบที่จะตามมาย่อมต้องมีมากมายเกินคาด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การลงทุน เพราะเพียงแค่ข่าวความเห็นไม่ลงรอย มีทีท่าเหมือนกับเกิดการขัดแย้งขึ้นแล้ว ก็ทำให้มีข่าวตามมาทันที ทั้งมีสำนักข่าวต่างประเทศ ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด มีการรายงานข่าวออกมาทันที พร้อมกับมีรายงานว่านักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่น
เพราะตราบใดที่พวกเขาเกิดความรู้สึกว่า “แบงก์ชาติไม่อิสระ” มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง นั่นย่อมหมายถึงหายนะทางเศรษฐกิจจะตามมา แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่ายังรักษามามาตรฐานเรื่องการให้อิสระกับธนาคารแห่งประเทศอยู่ในระดับดี แม้ในยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังไม่แตะต้อง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้น
อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติเลย เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีประวัติการปลดมาแล้วถึง 4 ครั้ง 4 คน ซึ่งก็ในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั่นแหละ ก็เคยปลด นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 9 มาแล้ว หรือในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยปลด “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ที่เคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องนโยบายค่าเงินบาท รวมไปถึงในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นยุคที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เคยคิดจะปลด นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 22 มาแล้ว เพราะความขัดแย้งในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย เช่นเดียวกัน
มาคราวนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ยังเป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ของ นายเศรษฐา ทวีสิน และเมื่อไม่กี่วันมานี้เขาก็ได้ออกมาร่วมตำหนินโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบัน มันจะซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากเสียงของรัฐบาลที่มีท่วมท้น 314 เสียง จะปลดหรือไม่ ยังเป็นคำถาม
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในความเป็นจริงขณะนี้ มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะเชื่อว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” และยังกลายเป็น “แรงสะท้อน” กลับมายังรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีเองมากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ราว 5 เดือนเท่านั้น ยังไม่อาจลงหลักปักฐานได้มั่นคงนัก อีกทั้งยังคงห่วงเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงุทน ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงที่รัฐบาลกำลังตีปี๊ปเชิญชวนการลงทุนเข้ามามากๆในเวลานี้ ดังนั้นการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หากมองรอบด้านแล้วยังคงไม่ใช่ผลดีนัก
แต่หากมองอีกด้านหนึ่งหากมองในทางการเมืองแล้ว การออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มันเหมือนกับการแอ็กชั่น แสดงความเห็นใจ เข้าใจประชาชน และธุรกิจระดับกลางและเล็กที่ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างแรงกดดันในทางอ้อมกลับไปยัง ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ให้ถูกมองในด้านลบมากขึ้น ทำนองว่าไม่เข้าใจความรู้สึกของชาวบ้าน อะไรประมาณนั้น ความหมายประมาณว่ารัฐบาลเห็นใจและเข้าใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเป็นอำนาจตัดสินใจโดยอิสระไม่อาจแทรกแซงได้
ดังนั้นเมื่อมองทุกมุมแล้วก็ยังมั่นใจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ว่าเขาจะมีอำนาจเต็มแค่ไหนก็ตาม คงยังไม่กล้าปลดผู้ว่าแบงก์ชาติในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน เพราะได้ไม่คุ้มเสีย มองทางไหนก็เชื่อว่ายังไม่กล้าทำ !!