xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาเห็นชอบ 5 ตุลาการศาล ปค.สูงสุด “หมอเฉลิมชัย”หวั่น สว.ใหม่จากพรรคการเมืองเข้าแทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุฒิสภาเคลียร์ข้อกฎหมาย ก่อนลงมติเห็นชอบ 5 รายชื่อ เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตามที่ ก.ศป.เสนอมา เผยแม้ รธน.60 ไม่ระบุข้อความให้วุฒิสภารับรองแต่ไม่ได้แก้หลักการเดิม ด้าน “หมอเฉลิมชัย” หวั่น สว.ใหม่แทรกแซงเพราะอาจมาจากพรรคการเมือง  

วันนี้ (15 ม.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 5 คน ได้แก่ นายบุญเสริม นาคสาร, นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์, นายวรวิทย์ สุขบุญ, นายสมฤทธิ์ ไชยยวงค์ และนายเชิดชู รักตะบุตร หลังจากที่ ก.ศป. ได้พิจารณาและส่งให้วุฒิสภาพิจารณา และคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมฯ ได้พิจารณาตรวจสอบ พร้อมจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาแล้วเสร็จ

โดยเป็นการประชุมลับและลงคะแนนลับ ภายหลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ได้แจ้งผลว่า ประชุมให้ความเห็นความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีผลดังนี้คือ
1.นางพรทิพา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 182 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 คะแนน ไม่ออกเสียง 3 คะแนน
2.นายวรวิทย์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 158 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 22 คะแนน ไม่ออกเสียง 9 คะแนน
3. นายเชิดชู ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 173 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 คะแนน ไม่ออกเสียง 5 คะแนน
4.นายบุญเสริม ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 169 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 14 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน และ
5.นายสมฤทธิ์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 172 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 10ค ะแนน ไม่ออกเสียง 7 คะแนน

เป็นอันว่าทั้ง 5 คนได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาด้วยเสียงข้างมาก ถือว่าได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ ก่อนที่วุฒิสภาจะประชุมลับ ได้เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นโดย นพ.เฉลิมชัย เครืองาม สว. ตั้งคำถามถึงอำนาจของสว. ต่อการพิจารณาให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้กำหนดถ้อยคำที่ชัดเจนให้อำนาจวุฒิสภาดำเนินการ มีเพียงว่า เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบ อย่างไรก็ตามในกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลปกครอง ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ.2542 นั้น ได้ออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แม้ที่ผ่านมจะแก้ไขหลายครั้ง แต่ในกระบวนการนั้นไม่พบการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ไม่มีข้อความส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบ ดังนั้นในกรณีที่ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ อาจมีประเด็นเกิดขึ้น เพราะ สว.อาจถูกมองว่ามาจากพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจเกิดการแทรกแซงขึ้นได้

ขณะที่นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สว. ชี้แจงว่า โดยหลักการตุลาการศาลปกครอง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ใช้อำนาจพิจารณาข้อโต้แย้งระหว่างรัฐกับเอกชน ใช้อำนาจชี้ขาดการใช้อำนาจของรัฐ ต้องผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบจากองค์กรต่างๆ แม้การได้มาซึ่งตุลาการศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่หลักการดังกล่าวไม่ได้หายไป เพราะยังกำหนดว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายที่เกียวข้องบัญญญัติ แม้ถ้อยคำของรัฐธรรมนูญปัจจุบันต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ทำให้หลักการเปลี่ยนไปหรือหายไป เพราะมีอยู่ตรงวรรคท้าย ว่า อยู่ที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายว่าด้วยวิธีการจัดตั้งศาลฯ มาจากรัฐธรรมนูญ ถือว่าคงหลักการเดิม เพราะตุลาการศาลปกครองถือเป็นผู้ใช้อำนาจวิจิจฉัยชี้ขาดอำนาจของรัฐต้องผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากองค์กรที่กำหนดไว้ ส่วนที่มองว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง แก้ไขเพิ่มเติมมหลายครั้ง แต่พบว่าไม่ได้แก้ไขในหลักการประเด็นดังกล่าว และยังคงยืนยันหลักการการใช้อำนาจของ สว.ที่ต้องเห็นชอบว่าไม่ได้ผิด หรือเกินเลยไป


กำลังโหลดความคิดเห็น