“อดีตรองอธิการ มธ.” เชื่อมั่น “กนง.” คุณภาพคับแก้ว ชี้ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนนโยบายการคลังรัฐบาล และโดยหลักการไม่ก้าวก่ายกัน เตือน ปลดผู้ว่าฯธปท. ผลเสียมากกว่าผลดี
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(10 ม.ค.67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าไม่เห็นด้วย หรือจะเรียกว่า ออกมาตำหนิก็คงไม่ผิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโบาย 0.25% โดยนายกรัฐมนตรีให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยก็เพราะเป็นช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อกำลังติดลบ
ดอกเบี้ยนโยบายคือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางเก็บจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน
ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อใช้ในการดูแลสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เช่นเดียวกันรัฐบาลมีหน้าที่ใช้เครื่องมือ หรือ นโยบายการคลัง นั่นคือการใช้จ่ายของรัฐบาล หรือใช้งบประมาณแผ่นดินดูแลสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโดยหลักการ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. เป็นคณะบุคคลที่มีหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน รวมเป็น 7 คน
หากไปส่องดูประวัติการศึกษาและหน้าที่การงานของ กนง แต่ละคนแล้วจะพบว่าแต่ละคนมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่เราจะมอบให้เป็นผู้ที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ลองเปรียบคุณสมบัติกับผู้บริหารกระทรวงการคลังดูก็ได้ว่าใครมีคุณสมบัติเหมาะสมในหน้าที่มากกว่ากัน
คิดหรือว่ากนง. จะไม่เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ที่บอกว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป และการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้น การที่กนง. ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังติดลบ แสดงว่ากนง. ต้องเห็นแล้วว่า บวกลบคูณหารกัน หรือมองในภาพรวมแล้ว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ จะมีผลบวกมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย
ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะรีบออกข่าวแสดงความไม่เห็นด้วย กระทั่งตำหนิธนาคารแห่งแห่งประเทศไทย จนเกิดข่าวลือสะพัดว่ารัฐบาลจะปลดผู้ว่าฯ นายกรัฐมนตรีน่าจะขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งผู้แทนหรือคณะผู้แทนมาชี้แจงเหตุผลที่ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ดีขึ้น
หากคิดจะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะเหตุนี้จริง ก็ขอบอกว่า นายกรัฐมนตรีต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อทั้งรัฐบาลและต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน”