xs
xsm
sm
md
lg

“จตุพร” ดับฝันเงินดิจิทัล ฟันธง “กฤษฎีกา” ชี้ รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาแจกได้ “ดร.เสรี” เตือน ผิดพลาด ถึงขั้น “ยุบสภา-เปลี่ยนนายกฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน จากแฟ้ม
“จตุพร” ชี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำตอบมาปฏิเสธอย่างสุภาพ ระบุ ต้องทำตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ม. 53 และ ม.57 ฟันธง รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาแจกได้ “ดร.เสรี” แนะ ฟังกฤษฎีกา ถ้าไม่อยากยุบสภา-เปลี่ยนตัวนายกฯ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(9 ม.ค.67) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ กรณี คณะกรรมการกฤษฎีส่งความเห็นการกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกประชาชนคนละ 1 หมื่นบาทตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำตอบมาปฏิเสธอย่างสุภาพ โดยมีความเห็นว่า รัฐบาลกู้เงินได้แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ม. 53 และ ม.57 ซึ่งเท่ากับบอกรัฐบาลจะทำตามใจตัวเองต้องการจะทำไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ส่งให้กระทรวงการคลัง จึงสอดคล้องกับความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ให้การสนับสนุนกู้เงินมาแจกโครงการดิจิทัล 5 แสนล้านบาท แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ภาพ นายจตุพร พรหมพันธุ์ จากแฟ้ม
“จตุพร” ระบุว่า คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีการแสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาแจกตามโครงการดิจิทัลได้เลย เพราะการให้ทำตามกฎหมาย แต่กฎหมายกำหนดข้อห้ามเอาไว้ และการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อไทยยังเข้าข้อห้ามของกฎหมายทุกข้อด้วย ดังนั้น คำตอบให้กู้เงินทำได้ตามกฎหมาย จึงยากที่จะกู้เงินได้ หรือเป็นการบอกอย่างสุภาพว่า ไม่ให้กู้นั่นเอง

“จตุพร” กล่าวด้วยว่า กฎหมายให้รัฐบาลกู้เงินได้ในสถานการณ์ประเทศวิกฤตและเร่งด่วน เมื่อนายกฯ ตระเวนชวนนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทยโดยยืนยันเป็นประเทศไม่มีวิกฤต ดังนั้น การจะกู้เงินมาแจกในช่วงบ้านเมืองวิกฤตจึงต้องแลกด้วยไม่มีนักลงทุนมาลงทุนในไทยที่เป็นประเทศวิกฤตด้วย

พร้อมกล่าวว่า การพยายามทั้งหมดของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น ผิดปกติ เพราะการเร่งอธิบายจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกามาพูดให้ชัดในที่ประชุม ครม. แต่รัฐบาลและ รมช.คลังนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กลับพูดดักไว้ล่วงหน้าว่า ทำได้แล้ว ดังนั้น ถ้าทำไม่ได้ จึงเป็นปัญหาในอนาคต

“จตุพร” เห็นว่า ตามปกติแล้วรัฐบาลจะกู้เงินไม่ไปถามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีแบบประกาศทางสาธารณะเช่นนี้ โดยจะเรียกมาขอความเห็นลับๆ หรือออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อให้มีผลสมบูรณ์โดยเร็ว

“ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความมั่นใจในโครงการแจกเงินดิจิทัล ถ้ามั่นใจต้องออกเป็น พ.ร.ก.ไปแล้ว ดังนั้นคนเป็นนักบริหาร ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจะกู้เงินโดยออก พ.ร.บ.ไม่ได้ สิ่งสำคัญถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าทำได้ แล้วทำไมไม่ทำเลย จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.ก็ตาม แต่จะถูกยื่นคำร้องให้ศาล รธน.ตรวจสอบอยู่ดี”

“จตุพร” กล่าวถึงนายกฯว่า มักนิยมบริหารประเทศผ่านการโพสต์ข้อความ โดยล่าสุดต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งเป็นการบริหารงานที่ไม่เหมาะสม และไม่ใช่วิธีการบริหารราชการของคนเป็นนายกฯ

“ปัญหามีว่าอยากจะปลดผู้ว่า ธปท.ใช่หรือไม่ ก็ปลดเลยสิ แต่มันมีที่ไหนที่การบริหารราชการด้วยข้อความผ่านเอ็กซ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับหน่วยงานราชการ แทนที่นายกฯ จะใช้ความเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะด้วยการแลกเปลี่ยนเหตุผลที่ก่อเกิดปัญหา ซึ่งธนาคารชาติก็จะมีเหตุผลให้ในมิติใด สิ่งสำคัญที่สุดวิธีการทวิตข้อความผ่านเอ็กซ์ยังไม่เข็ดกับการแสดงความเห็นกรณีอิสราเอลกับฮามาสอีกเหรอ”

ภาพ ดร.เสรี วงษ์มณฑา จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“กฤษฎีกาบอกว่า กู้ได้อย่างมีเงื่อนไขว่าต้องทำตามบทบัญญัติของมาตรา 53 และวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นรัฐบาลต้องดูให้ดีนะคะ

ดูตัวบทกฎหมายให้รอบคอบหน่อยนะ ถ้าผลีผลามทำโดยไม่ศึกษากฎหมายให้รอบคอบ อาจจะพลาดท่าได้นะคะ

กฤษฎีกา ท่านเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ท่านไม่ใช่ตุลาการตัดสินคดี

ถ้ามีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านมีอำนาจตัดสินนะคะ

รอบคอบหน่อยนะ พ.ร.บ.กู้เงินเป็นกฎหมายการเงินนะ ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบนะคะ

ต้องยุบสภาหรือลาออก ท่านพร้อมจะเลือกตั้งใหม่เหรอคะ

หรือท่านพร้อมจะเปลี่ยนนายกฯแล้วเหรอคะ

ถ้าไม่พร้อมทั้ง 2 เรื่อง ก่อนจะกู้มาแจก ดูบทบัญญัติของกฎหมายให้ดีนะคะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น