xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยบุตร” ยก “3 รุนแรง” อาร์ชบิช็อป สื่อถึงใคร “ไพศาล” ถอดรหัส “ไม่” เสี่ยหนู “ดร.เสรี” ชำแหละผลงานสภาไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
คุ้นๆ! “ปิยบุตร” ชี้ ความรุนแรง 3 แบบ “สถาบัน-ปฏิวัติ-ปราบปราม” มีผลต่อกัน “ไพศาล” ถอดรหัส “ไม่” ของ “เสี่ยหนู” เลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ใครก็ใครต้องผวาแน่ “ดร.เสรี” จัดหนัก ชำแหละ 10 สิ่งมหัศจรรย์ “สภาไทย”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 ก.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ หัวข้อ [ความรุนแรง 3 แบบ]

โดยระบุว่า “มีความรุนแรงอยู่สามแบบ แบบแรก ความรุนแรงแบบสถาบัน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความรุนแรงอีกสองประเภทที่เหลือ ความรุนแรงประเภทนี้ทำให้ผู้ปกครอง ผู้กดขี่ ผู้ขูดรีด ชอบด้วยกฎหมายและดำรงอย่างมั่นคงนิรันดร ความรุนแรงนี้ได้บดขยี้และทุบตีคนนับล้านด้วยฟันเฟืองที่เงียบงันและไหลลื่น
ความรุนแรงแบบที่สอง คือ ความรุนแรงแบบปฏิวัติ ซึ่งเกิดจากเจตจำนงที่ต้องการทำลายความรุนแรงแบบแรก
ความรุนแรงแบบที่สาม คือ ความรุนแรงแบบปราบปราม ที่มุ่งหมายบีบคอทำให้ความรุนแรงแบบที่สองหยุดหายใจ ด้วยอาสาเป็นผู้ช่วยและผู้สมรู้ร่วมคิดกับความรุนแรงแบบแรก

ไม่มีความเสแสร้งใดที่เลวร้ายที่สุดไปกว่าการเรียกการกระทำเฉพาะแบบที่สองว่าเป็นความรุนแรง โดยแกล้งหลงลืมความรุนแรงแบบแรกที่ให้กำเนิดความรุนแรงแบบที่สอง และความรุนแรงแบบที่สามที่ฆ่าความรุนแรงแบบที่สอง”
Hélder Câmara (1909-1999)
อาร์ชบิช็อป ชาวบราซิล

ภาพ นายไพศาล พืชมงคล จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า

“ไม่ใครก็ใครต้องผวาแน่!!!!

ก่อนเลือกตั้งคราวที่แล้ว “น้าหนู” บอกว่าไม่สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯโดยเด็ดขาด

หลังเลือกตั้งน้าหนูก็ทำตามคำพูดก็สนับสนุนเป็นนายกฯ

คราวนี้ “น้าหนู” ประกาศดังสนั่นว่าจะไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล!!!

ไม่ใครก็ใครคงผวาสุดหัวใจล่ะครับ!!!

คำว่า “ไม่” ของน้าหนู เป็นคำเกินหรือโวหารการเมือง ไม่ได้แปลว่า “ไม่” นะจ๊ะ

ภาพ ดร.เสรี วงษ์มณฑา จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า

“สิ่งมหัศจรรย์ของสภาไทย”

1. มีคนโกหกโดยไม่มีความละอาย

2. มีคนเอาเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำงานมาอภิปราย

3. มีคนนั่งเป็นประธานที่ไม่มีวุฒิภาวะในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ

4. มีคนนั่งเป็นประธานที่ยุให้คนอภิปรายพูดแรงๆ ไม่ต้องเกรงใจ

5. มี ส.ส. หญิง แจกกล้วยกลางสภา

6. มีการอภิปรายแบบหนัง rerun

7. เป็นการอภิปรายรัฐบาลที่ย้อนกลับไปที่หัวหน้าตัวเอง

8. มีการอภิปรายที่ขัดแย้งกับความจริงเชิงประจักษ์

9. เปรียบเทียบไทยกับศรีลังกา ด้วยตรรกะที่บิดเบี้ยว

10. อ้างประชาชนแบบมั่วนิ่ม ไม่รู้ว่าประชาชนกลุ่มไหนที่รอต้อนรับนายใหญ่ มีประชาชนกลุ่มไหนโกรธแค้นจนจะออกมาทำรุนแรงแบบศรีลังกา มีประชาชนมากน้อยเท่าใด เอามาอ้างอย่างน่าไม่อาย

แบบนี้หรือที่คิดจะเด็ดหัว สอยนั่งร้าน

ตอนนี้ ใครนะไม่มีหัว

ตอนนี้มีภาพนั่งร้านหลังกองข้าวเกลื่อน Fb

ขว้างงูไม่พ้นคอนะคะ

ทำการบ้านให้ดีกว่านี้เป็นไหมคะ” (จากสยามรัฐออนไลน์)

แน่นอน, สิ่งที่หลายคนเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาจเหมือนหรือต่างก็ไม่แปลก อยู่ที่คาดหวังต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน สูงแค่ไหน

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกัน ก็คือ ต้องการเห็นหลักฐานการทำผิดของรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย ชนิด มัดแน่นจนดิ้นไม่หลุด ชี้แจงไม่ได้ หรืออย่างน้อยต้องมีมูลให้นำสืบได้ แทนที่จะเป็นการผลิตวาทกรรม เหน็บแนมแกมประชด เสียดสีเอามัน รวมทั้งใส่ร้ายป้ายสีจากข้อมูลที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า เป็นความจริง

อย่าลืมว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าแพ้อีก อย่างน้อยฝ่ายค้านต้องพิจารณาตัวเองเหมือนกัน จะอ้างว่า ฝ่ายรัฐบาล “โหวตแลกกล้วย” อยู่ร่ำไปไม่ได้ เพราะมันง่ายเกินไปที่จะปัดความรับผิดชอบของการทำหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน

ประเด็นที่ฝ่ายค้านจะต้องเรียนรู้ให้มาก และหยุดโทษคนอื่นเสียที ก็คือ ทำไม “ทุจริตจำนำข้าว” ฝ่ายค้านขณะนั้น จึงเอาผิดรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีได้

นี่คือ สิ่งที่ประชาชนตั้งคำถาม ไม่ใช่เอะอะก็ “ล้มประยุทธ์” ตามกระแสที่ปลุกกัน แล้วจะเอาอะไรไปล้ม อ้างประชาชนเบื่อหรือ?


กำลังโหลดความคิดเห็น