วันนี้ (6 ม.ค.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว และขอบคุณทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่ได้ให้ความสนใจอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับจัดสรร จำนวน 35,055.6025 ล้านบาท จากนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม วางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยจะใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมีความจำเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะดำเนินการขอรับจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยตรง และเป็นไปตามพันธสัญญาข้อตกลงปารีส และการประชุม COP ที่ผ่านมา จะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียน ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนดูแลและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งการสร้างการเติบโตเศรษฐกิจภาคทะเลและทรัพยากรธรณี ทั้งยังให้ความสำคัญ ในเรื่องการจัดการที่ดินให้แก่ราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า ตลอดจนส่งเสริมการปลูกป่า ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการคนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริ
3. ด้านแหล่งน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งในปี 2567 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 6,716.4969 ล้านบาท ซึ่งประชาชนได้รับประโยชน์ 93,000 ครัวเรือน แหล่งน้ำได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา 763 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางด้านการคลังของรัฐบาล ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามความต้องการทั้งหมดของกระทรวง อีกทั้งสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน ต้องปรับเปลี่ยนหาวิธีการทำงานใหม่ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาตามภารกิจของกระทรวง โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดความยั่งยืน ทั้ง 3 ด้าน
“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ที่ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะนำมาเป็นแนวทางพิจารณา โดยให้สอดคล้องกับงบประมาณ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน ต่อไป”