สตง.ชำแหละงบฯ 1.07 พันล้าน 4 ปี “ระบบเตือนภัยประเทศ” ผ่าน ศูนย์เตือนภัย ปภ.มหาดไทย เฉพาะระบบโทรมาตรผ่านแอป “DPM Alert” วงเงิน 432.7 ล้าน ไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ชาวบ้าน/ชุมชนเข้าไม่ถึง พบระบบเตือน PM 2.5 กว่า 375 จาก 539 แห่ง ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่วนระบบคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ของบฯเพิ่มอีก 31.6 ล้าน จากเดิม 21.3 ล้าน พบส่วนใหญ่ ยังไม่แม่นยำจริง ตะลึง! หอเตือนภัย “จออัจฉริยะ” 60 ล้าน ขึ้นสถานะออฟไลน์
วันนี้ (4 ม.ค. 2567) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า สตง.เผยแพร่ ผลตรวจสอบ โครงการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย ในกำกับของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย
โดยเฉพาะ ระบบเตือนภัยต่างๆ หลังจากมีการเปิดใช้ แพลตฟอร์ม “DPM Alert” ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย จำนวน 1,074.95 ล้านบาท
ผ่าน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนทั่วประเทศและหน่วยราชการ
เป็นการเข้าตรวจสอบ ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย (ศอ.) กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย (สส.) กองนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นส.)
และส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (สนง.ปภ.จังหวัด) 7 แห่ง
สตง.ยังเข้าสังเกตการณ์ “อุปกรณ์โทรมาตร” 35 แห่ง และทดสอบอุปกรณ์เตือนภัย 82 แห่ง ในพื้นที่ จ.จันทบุรี เชียงราย นครราชสีมา พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสุโขทัย ที่ใช้งบประมาณ 432.70 ล้านบาท
หลังจากตรวจสอบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert จำนวน 35 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด พบว่า การทำงานและการแสดงผลของระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) เป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง และไม่ครบถ้วน
ตามข้อมูลรายงานการตรวจจัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ ของโทรมาตรที่แสดงผลผ่านทางเว็บไซต์ในแพลตฟอร์ม “DPM Alert” ทั้ง 3 ระยะ จำนวน 555 แห่ง พบว่า
“กว่า 318 แห่ง ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง ไม่พบข้อมูลการตรวจจัดเป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 2 วันขึ้นไป”
เช่น ตรวจจัดสภาพอากาศไม่ต่อเนื่อง 71 แห่ง ตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ต่อเนื่อง 57 แห่ง ตรวจจัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ต่อเนื่อง 190 แห่ง
พบว่า จุดติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรใน 7 จังหวัด 35 แห่ง พบว่า ไม่สามารถตรวจจัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ถึง 26 แห่ง
ยังพบพื้นที่ที่ตรวจสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วน มีถึง 370 แห่ง และแสดงผลข้อมูลตรวจจัดสภาพอากาศไม่ครบถ้วน 164 แห่ง จากทั้งหมด 539 แห่ง
พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแสดงผลข้อมูล ตามรายการตรวจวัดสภาพอากาศไม่ครบถ้วน ได้แก่ ข้อมูลรายการความกดอากาศ ความขึ้นสัมพัทธ์ ปริมาณนํ้าฝน อุณหภูมิ และความเร็วและทิศทางลม
“ซึ่งในส่วนนี้ โทรมาตร ที่มีการแสดงผลข้อมูลตามรายการตรวจจัดคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วน ได้แก่ ข้อมูลรายการฝุ่นขนาด PM2.5 และ PM10 ก๊าซโอโซน และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งมีจำนวนถึง 375 แห่ง จากทั้งหมด 539 แห่ง”
ที่สำคัญ สตง. พบว่า กลุ่มเป้าหมายในชุมชน 7 จังหวัด ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยและข้อมูลสภาพอากาศ บน Smart Phone “DPM Alert” ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
คือ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและ คุณภาพอากาศ ข้อมูลข่าวสาร และการแจ้งเตือนภัยผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert
ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าในพื้นที่มีอุปกรณ์ตรวจจัดสภาพอากาศและ คุณภาพอากาศ และ ไม่ทราบว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้
“คนใน 7 จังหวัดไม่ทราบว่า มีการรับข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน DPM Alert บางรายไม่เคยใช้งานแอปพลิเคชัน DPM Alert ซึ่งมีผู้นำชุมชนที่ไม่ทราบว่า สามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือน/แจ้งข่าว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังภัยได้”
สตง. ระบุว่า เจ้าหน้าที่ สนง.ปภ. 7 จังหวัด ให้ข้อมูลว่า ไม่ได้นำเข้าข้อมูลการแจ้งเตือนในแต่ละพื้นที่เข้าสู่ฐานข้อมูล ของแอปพลิเคชัน DPM Alert และไม่มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน DPM Alert
เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือประชาชนทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย
นอกจากนี้ พบว่า โทรมาตร ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2564 ทั้งในระยะที่ 1 และ 2 ยังไม่ได้เปิดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ
ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค และไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert
จากการสุ่มตรวจ ผลการแจ้งเตือนผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DPM Alert (โทรมาตร) เปรียบเทียบกับ โทรสารแจ้งเตือนของ กอปภ.จ. 7 ฉบับ
พบว่า ทุกฉบับไม่ปรากฏข้อมูลการแจ้งเตือนใน แอปพลิเคชัน DPM Alert ตามช่วงวันที่และพื้นที่ตามประกาศแจ้งเตือนภัยตามโทรสารแจ้งเตือน
โดยพบเพียงการแจ้งข่าวที่ปรากฏในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน DPM Alert ที่ตรงกับการแจ้งเตือน ตามโทรสารเพียง 3 ฉบับ และเป็นเพียงการแจ้งข่าวเท่านั้น
การพัฒนาระบบโทรมาตร ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด ส่งผลกระทบ ทำให้ ปภ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัยไม่สามารถนำข้อมูลที่มาจากสภาพแวดล้อม ในพื้นที่เสี่ยงภัยจริง ถูกต้องตามความเป็นจริง มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์สาธารณภัย ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทำให้เสียโอกาสในการนำข้อมูลจากระบบโทรมาตรมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เกิดความไม่คุ้มค่า กับงบประมาณ
สตง. ยงพบว่า ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ที่ใช้งบฯ 21.33 ล้านบาท ในระดับพื้นที่ ยังไม่มีความแม่นยำ จนต้องขอรับสนับสนุนงบปรับปรุงระบบ DSS เพิ่มเติม 2 โครงการ อีก 31.60 ล้านบาท
เฉพาะ เหตุ อุทกภัย นํ้าป่าไหลหลาก/ดินโคลนถล่ม และวาตภัย พบว่า เจ้าหน้าที่ ยังไม่มีการใช้ประโยชน์แผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 3 วัน ของระบบ DSS เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ แจ้งเตือนล่วงหน้า
โดยมีการใช้ประโยชน์ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน แต่ระบบ DSS คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วันในระดับพื้นที่ ยังไม่แม่นยำ
โดยจากการสุ่มตรวจสอบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจริง ในพื้นที่ 7 จังหวัด เปรียบเทียบกับแผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ตั้งแต่ เดือน ส.ค. 2564 - ก.ย. 2565 พบว่า
เหตุเกิดอุทกภัยจริง จำนวน 90 ครั้ง ซึ่งระบบ DSS คาดการณ์อุทกภัย ล่วงหน้า 1 วัน ในระดับตำบล ได้อย่างแม่นยำ จำนวน 30ครั้ง และระบบ DSS ไม่คาดการณ์ แต่เกิดอุทกภัยจริง จำนวน 60 ครั้ง
แบ่งเป็นระบบไม่มีการคาดการณ์ตำบลที่จะเกิดอุทกภัยแต่เกิดอุทกภัยจริง จำนวน 39 ครั้ง และระบบมีการคาดการณ์การเกิดอุทกภัยแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกตำบลที่เกิดอุทกภัยจริง จำนวน 21 ครั้ง
กรณี “ไม่แม่นยำ” พบว่า เกิดวาตภัยจริง จำนวน 80 ครั้ง ซึ่งระบบ DSS คาดเกิดวาตภัย ล่วงหน้า 1 วันในระดับตำบล ได้อย่างแม่นยำ มีจำนวน 27 ครั้ง และระบบ DSS ไม่คาดการณ์แต่เกิดวาตภัยจริง จำนวน 53 ครั้ง
แบ่งเป็นระบบไม่มีการคาดการณ์ตำบลที่จะเกิดวาตภัยแต่เกิดวาตภัยจริง จำนวน 50 ครั้ง และมีการคาดการณ์การเกิดวาตภัยแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกตำบลที่เกิดวาตภัยจริง มีเพียงจำนวน 3 ครั้ง
สตง. ยังพบว่า การพัฒนาศักยภาพ “หอเตือนภัยในแหล่งท่องเที่ยว” 30 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 60 ล้านบาท ผ่าน “จออัจฉริยะ” 30 จอ
ตั้งแต่ เม.ย. 2566 พบว่า การทำงานของจออัจฉริยะอยู่ในสถานะออฟไลน์ ไม่มีการแสดงผลข้อมูล ทั้ง 30 จอ
มีข้อมูลว่า “จออัจฉริยะ” มีการทำงานในบางช่วงเวลา โดยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านจอๆ เป็นการนำเสนอเพียงภาพไม่มีเสียงประกอบ และนำเสนอเนื้อหาเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เนื้อหาที่นำเสนอเข้าใจยาก
โดยเนื้อหาที่นำเสนอไม่มีการเสนอในระดับพื้นที่ ขณะที่หอเตือนภัยทั้ง 3 แห่ง มีการติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตร ที่ซึ่งทำการตรวจวัดสภาพอากาศ และคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
แม้จะมีการรายงานผลข้อมูลแบบ Real Time แต่ระบบยังไม่สามารถเชื่อมโยงและแสดงผลในระดับพื้นที่
สุดท้าย สตง. พบว่า ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 เฉพาะ “กำหนดการเตรียมรับมือและอพยพ”
ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งระดับ อำเภอ และ อปท. 677 แห่ง จากทั้งหมด 897 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา มท. ปภ. และ ปภ.จังหวัด ได้เตรียมแผน และขั้นตอนการปฏิบัติงาน รวมทั้งแผนเผชิญเหตุบ้างแล้ว.
โดย สตง. มีข้อเสนอแนะให้กับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แล้ว.