“วราวุธ” พอใจ อภิปรายวันแรก ขอบคุณ “นายกฯ” ให้ความสำคัญ งบฯ พม. เป็นห่วงความเป็นอยู่กลุ่มเปราะบาง แจงขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท ไม่ได้ เหตุรายรับ-รายจ่ายรัฐบาลยังสวนทางกัน เหตุคนไทยเสียภาษีไม่ถึง 5 ล้านคนต่อปี หวั่นเป็นภาระสำนักงบประมาณ
วันนี้ (4 ม.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พอใจการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในส่วนของงบประมาณ พม.และขอบคุณฝ่ายค้านที่ได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสังคมที่ทาง พม.ได้ดูแลอยู่ ซึ่งข้อสังเกตเหล่านั้นจะนำไปปรับปรุงและเร่งรัดการทำงานต่อไป และต้องขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มีความเป็นห่วงเป็นใยความเป็นอยู่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่ตนเพิ่งได้ของเดือนธันวาคม 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประเทศ ประมาณ 20.1- 20.2% ซึ่งถ้าเทียบตามกติกาของสากล 7-14%หมายถึงสังคมผู้สูงอายุ ส่วน 14-20% เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ และถ้าเกิน 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด และตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เท่ากับประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ แต่ศักยภาพในการดูแลเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั้งหมด ในปี 2565 มี 4 แสนกว่าคนเท่านั้น นั่นหมายความว่า จากนี้ไปจำนวน Geny-Gen Z หรือในอนาคตก็จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะมีสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันมีมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญ นอกจากการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่มในประเทศไทยช่วงระยะเวลาสั้นออกมา เพราะทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการไม่ได้แปลว่าไม่มีศักยภาพในการทำงาน เพราะทุกคนล้วนเป็นบุคลากร และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทย จึงต้องดึงเอาศักยภาพ และเสริมศักยภาพของคนกลุ่มนี้ เข้ามาเป็นโปรดักทิวิที้ เพื่อให้เกิดรายได้ และพลังขับเคลื่อนของสังคม เพราะไม่เช่นนั้นนับวันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นและมีคนต้องใช้เงินสวัสดิการมากขั้น ซึ่งสวนทางกับคนที่มีกำลังทำงานที่มีปริมาณน้อยลง จะทำให้คนเจน Y เจน Z เป็นนางแบก และไม่อยากให้กลุ่มเหล่านี้ถอดใจและเกษียณก่อนวัยอันควรที่ไม่อยากจะแบกรับสวัสดิการเหล่านั้น จึงเป็นเวลาที่สังคมไทยต้องมาเสริมสร้างกลุ่มที่เปราะบางเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยได้
เมื่อถามถึงการอภิปรายที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับงบฯ ปี 67 เพื่อการพัฒนาสังคม นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาทุกมิติ เพราะหลายประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึง ทั้งเรื่องความรุนแรงของสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้กับ พม.
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายอยากให้ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เท่ากันทุกช่วงวัย นายวราวุธ กล่าวว่า การขอไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุปัจจุบันที่เป็น step 600/700/800 นั้น เราใช้เงินปีล่ะประมาณหนึ่งแสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าจะปรับให้เป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า ต้องใช้เงินมากขึ้นถึง 60,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากสำนักงบประมาณและรัฐบาลมีเงินพอก็เชื่อว่าอยากจะให้อยู่แล้ว แต่ปี 2565 ประเทศไทยมีคนเสียภาษีจริงๆ 4 ล้านกว่าคน และมีเงินภาษีกับบริษัทห้างร้าน และสรรพสามิต ซึ่งไม่ถึง 10% ของประชากรคนไทย หรือมีคนเสียภาษีไม่ถึง 5 ล้านคน เงินขาเข้ามีน้อย แต่เงินขาออก ทุกคนอยากให้มีถ้วนหน้า ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเน้นกลุ่มเปราะบาง และคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน แล้วค่อยๆดู แลตามลำดับความสำคัญไป
“ส่วนตัวก็อยากจะให้ดูแลสังคมให้ถ้วนหน้าได้จริงๆ อย่างที่ถูกอภิปรายแต่ก็เห็นใจกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณที่มีรายได้น้อยและจำกัด พม.เองก็ไม่อยากให้งบประมาณกลายเป็นงบขาดดุลทุกปีๆ ซึ่งปีนี้ก็กู้มาอีกหลายแสนล้าน และถ้าต้องการถ้วนหน้าจริง ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับสำนักงบประมาณอีก แต่ถ้างบฯเพียงพอ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ 1,000 บาท แต่ 3,000 บาท หรือกี่พันบาทเราก็อยากให้ แต่วันนี้รายจ่ายและรายรับมันไม่บาลานซ์กัน”
นายวราวุธ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มองว่า ผู้สูงอายุจะต้องเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว เพราะสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น หลายคนก็มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งเกิดจากระบบสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนา ดังนั้น จึงมองว่า สังคมไทยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ เพราะเขาสามารถทำงานเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทยได้ ดังนั้น ทุกคนอาจจะตั้งคำถามว่าจะเอากลุ่มคน 60 ปี มาทำงานหรือ ซึ่งต้องบอกว่า วันนี้กลุ่มคนทำงานมีจำนวนน้อยลง แต่กลับมีจำนวนผู้ใช้สวัสดิการเพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าทุกคนอยากได้รับการสนับสนุน แล้วจะเอาคนกลุ่มไหนมาทำงาน เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้ และหากกลุ่มผู้สูงอายุทำงานได้ เป็นเหมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะประเทศชาติจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำหลังวันเกษียณ ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง