“ส.ส.ก้าวไกล” ผิดหวัง รัฐบาลยกเรื่องฝุ่น pm 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่จัดงบประมาณไม่สะท้อนการแก้ปัญหา ถ้าแบบนี้มีทางออกเดียว คือ ต้องจุดธูป 16 ดอก ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ธรรมชาติเบาบางลงไปเอง และอ้อนวอนนายทุนหยุดนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผา
วันนี้ (4 ม.ค.) นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ถึงงบเกี่ยวกับการจัดการฝุ่น PM 2.5 ว่า รัฐบาลยกประเด็นฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ ตนมองว่า น่าผิดหวังมาก ที่การจัดงบประมาณไม่ได้สะท้อนถึงปัญหา และไม่ได้ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้จากรัฐบาล ตนเปรียบเทียบการแก้ปัญหานี้ เหมือนการสร้างตึก 5 ชั้น การจะสร้างฐานรากขึ้นอยู่กับฝ่ายสภาได้ แต่หากจะสร้างชั้นที่ 1-5 ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลด้วย
ชั้นที่ 1 เป็นชั้นสาธารณสุข ซึ่งชั้นนี้น่าผิดหวังมากที่งบประมาณกระทรวงสาธารณสุขทั้งเล่ม มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 มาแค่ผิวเผิน ยุทธศาสตร์แผนจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 298 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 292 ล้านบาท เป็นการยกระดับโรงพยาบาล Green& Clean ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 ส่วนอีก 6.2 ล้านบาท ไปอยู่ที่กรมอนามัยที่มีโครงการลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เทียบเท่าโครงการเครื่องวัดระดับค่า PM 2.5 เครื่องเดียวแค่นั้นเอง
นายภัทรพงษ์ ตั้งคำถามว่า ประชาชนได้อะไรจากตัวชี้วัดแบบนี้ กลับวิกฤตที่กระทบสุขภาพและพรากคนที่เรารักไป ท่านจัดงบได้แค่นี้หรือ พร้อมเปรียบเทียบสถิติการเป็นมะเร็งปอดที่คนภาคเหนือมีค่าเฉลี่ยการป่วยและเสียชีวิตสูงกว่าภาคอื่น ทางที่สูบบุหรี่น้อยกว่าพื้นที่อื่น 10% ปัญหานี้ไม่ได้กระทบกับภาคเหนือแล้ว ทราบหรือไม่ว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทั้งประเทศในปี 2566 อยู่ที่ 6.82 ล้านคน
นายภัทรพงษ์ กล่าวต่อว่า งบฯ 67 ไม่มีการทำห้องปลอดฝุ่น ที่ผ่านมาใช้งบจากส่วนอื่น ปัจจุบันมีห้องปลอดฝุ่นอยู่ 1,178 แห่ง ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มีแค่ 4 ห้อง และกระจุกตัวอยู่ในเมืองทั้งหมด พร้อมเสนอให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดทำกันเองจะดีกว่า อีกส่วนหนึ่งที่ควรจะมีงบประมาณแต่ไม่เห็นคืองบเฝ้าระวังสุขภาพและโรคที่เกิดขึ้นจาก PM 2.5 ในพื้นที่ที่ประสบภัยรุนแรง ทั้งที่รัฐบาลมีโครงการแบบนี้ในพื้นที่ EEC
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า เป็นงบกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีงบเครื่องฟอกอากาศให้กับ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงแม้แต่นิดเดียว น่าอายมากแม้แต่โรงเรียนก็ไม่สามารถเป็นสถานที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานของเราได้
ในชั้นที่ 2 เป็นไฟเกษตร ซึ่งตนตั้งความหวังไว้สูงมาก เพราะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเป็นระบบ รัฐบาลตั้งเป้าลดการเผา 50% แต่ตั้งงบให้เพียง 10% เท่านั้น การดำเนินการโครงการต่างๆไม่ต่างอะไรกับปี 2566 ตนขอเสนอแนะว่าต้องตั้งงบให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
“ท่านพูดว่าจะลดการเผา 100,000 ไร่ แต่ตั้งงบประมาณมาแค่ 20,000 ไร่ ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า” นายภัทรพงษ์ กล่าว
ในชั้นที่ 3 เป็นเรื่องไฟป่า เราเห็นงบประมาณส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งที่เรามีความรู้ มีข้อมูล เห็นหมดว่าพฤติกรรมไฟป่าเป็นอย่างไร แต่กลับไม่มีแผนการที่จริงจัง สิ่งที่ต้องกังวลมากที่สุดคืองบประมาณอุปกรณ์การดับไฟป่าให้เจ้าหน้าที่ การจัดซื้อโดรนตรวจจับความร้อน การทำจุดเฝ้าระวังไฟป่าในอุทยาน ก็ยังไม่ชัดเจน สิ่งที่ตนผิดหวังมากที่สุดคืองบยังกระตุกไปที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายไปส่วนที่รู้ปัญหาดีที่สุดอย่างท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นของบไป 1,709 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับให้งบมาแค่ 50 ล้านบาท
“เราทราบอยู่แล้วว่าท้องถิ่นที่จัดการไฟป่าในงบประมาณน้อยขนาดไหน ท่านนายกรัฐมนตรีจะปล่อยให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องควักกระเป๋าตัวเอง จัดทำทอดผ้าป่า ขายบัตรรำวง เอาเงินมาดับไฟป่าให้พวกเราหรือ … กี่ปีต่อกี่ปีมาแล้ว เราเห็นปัญหาเดิมๆ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้และกรมอุทยานมีไม่เพียงพอต่อการดับไฟป่าอยู่แล้ว แล้วเขาไม่สามารถดับไฟได้เร็วเท่ากับคนในพื้นที่” นายภัารพงษ์ กล่าว
ชั้นที่ 4 เป็นการพยากรณ์และการแจ้งเตือน การที่จะพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำต้องมีเครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ ตนมีความกังวลอย่างยิ่งว่างบที่ใช้ไปจะไม่มีประสิทธิภาพ ในส่วนการแจ้งเตือน ตนขอเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ กสทช. จัดทำในส่วนนี้ พร้อมฝากกระทรวงมหาดไทยไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ค่า PM 2.5 มากเท่าไหร่ก็ไม่แจ้งเตือน สะท้อนว่าต่อให้มีเครื่องมือดีขนาดไหน หากบริหารจัดการไม่ดีก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ในชั้นที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้าย เป็นศูนย์บัญชาการ ในการจัดการฝุ่นพิษข้ามพรมแดน มีงบในการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 797.54 ล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียด ตนขอถามกระทรวงการต่างประเทศว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนหรือไม่
นายภัทรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอแนะนี้ไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง หากจัดงบประมาณแบบนี้ เรามีทางออกเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือต้องจุดธูป 16 ดอก ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภาวนาให้ธรรมชาติเบาบางลงไปเอง ธูปเทียนเท่านั้น ถ้าธรรมชาติปรานี ประชาชนก็พ้นภัย แล้วต้องไปสวดมนต์อ้อนวอน ขอให้นายทุนเลิกนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผาอีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่มาถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตรให้กับประเทศไทยเลย ซึ่งอีกไม่กี่สัปดาห์ปัญหา PM 2.5 ในภาคเหนือจะเพิ่มขึ้นรุนแรงขึ้นแล้ว ตนจะติดตามอย่างใกล้ชิดว่าทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้หรือไม่ และประชาชนพอจะตั้งความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้หรือไม่
“ในช่วงปีใหม่ 2567 นี้ สิ่งที่ประชาชนจากจะได้รับจากท่าน คงไม่ใช่คำอวยพรหรือคำสัญญาใดๆ แต่สิ่งที่พวกเขาอยากจะได้คืออากาศบริสุทธิ์ ที่สามารถหายใจได้เด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านได้และพวกเราไม่ต้องยิ้มให้กันภายใต้หน้ากากอนามัย ขอแค่เท่านี้ ท่านพอจะมอบให้ประชาชนเป็นของขวัญวันปีใหม่ได้หรือไม่” นายภัทรพงษ์ กล่าว