“พิธา” พบปะแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ขอบคุณที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 14 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมร่วมรับประทานซอยจู๊ พร้อมรับฟังปัญหา สวัสดิการ การจ้างงาน การทำงานและการใช้ชีวิตของแรงงานไทยในต่างแดน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปยังเมืองฮวาซอง จังหวัดคยองกีโด ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงเย็นวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เพื่อเยี่ยมเยียนร้านชำของคนไทย ร่วมรับประทานอาหารเย็น และพูดคุยพบปะกับแรงงานไทย แลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของแรงงานไทย สวัสดิการการทำงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิตในเกาหลีใต้
โดยนายพิธาได้ขอบคุณชาวไทยในเกาหลีที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ติดหนึ่งใน 10 อันดับที่ชาวไทยออกมาเลือกตั้งมากที่สุด จึงถือโอกาสนี้เดินทางมาขอบคุณด้วยตัวเอง และทางพรรคก้าวไกลเอง ซึ่งเป็นพรรคที่มี ส.ส.จำนวนมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังมีปีกแรงงาน ทีมต่างประเทศ และทีมเศรษฐกิจ ในโอกาสที่เดินทางมานี้ แม้ตนจะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ตั้งใจมาเพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องแรงงานไทย เพื่อเสนอต่อพรรค และ ส.ส.คนอื่นต่อไป
ด้าน นางสนอง วรรณษา ตัวแทนแรงงานไทย ซึ่งมาทำงานกับโครงการจัดหางานของกระทรวงแรงงาน (EPS) ได้เล่าว่า ปัญหาของแรงงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ แรงงานเกษตร โดยเฉพาะผู้หญิง ที่จำนวนงานมีโควตาน้อยกว่าจำนวนแรงงาน และเนื่องจากประเทศเกาหลีใต้มี 4 ฤดูกาล ในช่วงฤดูหนาว เมื่อไม่มีงาน แรงงานได้รับผลกระทบ โดนให้ออกจากงาน ซึ่งมาถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว แต่ไม่สามารถหางานใหม่ได้ตามเวลาที่กำหนด ก็จำเป็นต้องกลับประเทศไทย ทั้งที่กว่าจะสอบผ่านเข้าร่วมโครงการ และเสียเงินหลักแสนในการเดินทาง การตรวจโรค และการเตรียมตัวขั้นตอนต่างๆ นอกจากนี้ แรงงานไทยยังเล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่ทำให้แรงงานในระบบจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเป็นแรงงานผิดกฎหมายด้วย
ในประเด็นนี้ นายพิธา ได้เสนอเพิ่มชนิดวีซ่าให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ตรงกับลักษณะงาน ลดความคลุมเครือ เจรจาให้งานตรงกับสัญญา และตรงไปตรงมา รวมถึงเรื่องแทร็กระยะเวลาการทำงาน หากแรงงานทำงานถึงเกณฑ์ สามารถขยายเวลาการทำงานในเกาหลีใต้ได้ยาวนานขึ้น รวมถึงโอกาสในการได้รับวีซ่าทำงานอย่าง E7 ที่จะได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น
รวมถึงโมเดลของประเทศอื่นๆ ที่ต้องการแรงงานเกษตร และเปิดรับแรงงานเป็นฤดูกาล สามารถเดินทางไปทำงานเฉพาะหน้าเก็บเกี่ยวและกลับไทยเมื่อหมดฤดู ก่อนจะเดินทางไปใหม่ในปีต่อไป ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องต้องโดนออก สามารถบริหารตัวเองได้ ซึ่งทางพรรคได้มีการมองโมเดลนี้ และตั้งใจนำไปเสนอให้ปรับปรุงกับระบบของวีซ่า EPS รวมถึงยังมองว่าปัญหาของแรงงาน EPS ในปัจจุบัน คือ การไม่ลงรายละเอียดในอุตสาหกรรมแต่ละส่วนที่แตกต่างกันที่มีการทำงานเฉพาะ อย่างวีซ่าเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น
แรงงานไทยในเกาหลีใต้ ยังได้สะท้อนปัญหาสวัสดิการที่หลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับนายจ้าง ว่าแต่ละงานอาจจะเจอนายจ้างที่ดีหรือไม่ดี รวมไปถึงงานและสวัสดิการอย่างเรื่องที่พักที่ไม่ตรงกับสัญญาจ้าง การย้ายงานที่ไม่สามารถทำได้ง่าย เช่น เรื่องที่พัก ตามสัญญาระบุว่าห้องนอนสองคนต่อหนึ่งห้อง แต่สภาพตอนนี้คือหนึ่งห้องนอนหกคน และห้องน้ำห้องเดียว ทั้งที่แรงงานกว่าจะสอบผ่านจนถึงบินมาทำงาน ใช้เวลาหลายเดือน ใช้เงินหลักแสนบาท แต่กลับมีปัญหาทั้งที่พักและงาน ทำให้ไม่สบายใจ สภาพร่างกายไม่ตรงสายงาน จะขอย้ายงานก็ไม่สามารถทำได้ และเมื่อถามศูนย์ช่วยเหลือ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ครอบคลุมความช่วยเหลือ แรงงานหลายคนคิดว่าเงินที่เสียไปไม่คุ้ม แต่ไม่สามารถทำอะไรได้
.
กลุ่มแรงงานไทยยังร้องขอว่าต้องการให้มีองค์กรที่สามารถรับฟังปัญหาจากปากคนทำงานจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ฟังฝั่งนายจ้างเพียงด้านเดียว
.
สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะมีกำหนดการบรรยายสาธารณะที่ห้อง 506 อาคารรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ในหัวข้อ “Towards a Brighter Horizon: Thai Democracy and the Future of Thai-Korea Relations”