xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบริการแล้ว ตรวจสอบเบี้ยคนแก่-ผู้พิการ ผ่านแอปฯ ”ทางรัฐ“

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ผ่านแอปพลิเคชั่น ”ทางรัฐ“ ที่พัฒนาโดย สพร.เดินหน้าสู่ รบ.ดิจิทัล บริการปชช.-ช่วยผู้สูงอายุ-ผู้พิการ สะดวก รวดเร็ว

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ได้เปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ โดยใช้บริการผ่าน Super App "ทางรัฐ“ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ สพร. และ กระทรวงมหาดไทย โดยความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง

นางพวงเพ็ชร ชุณละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้เกียรตินำบริการ “ตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ” มาไว้ในแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่พัฒนาโดย สพร. สะท้อนให้เห็นถึงการก้าวสู่องค์กรดิจิทัล ที่มีความสอดคล้อง คล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ “ทางรัฐ” เป็นเสมือน “ซูเปอร์แอปของภาครัฐ” ทำประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในแอปพลิเคชันเดียว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนประเทศไทย และร่วมกันสร้างประเทศให้ทันสมัย (Smart Nation) เพื่อชีวิตของคนไทยที่ง่ายขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ สามารถใช้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก โดยใช้บริการผ่าน Super App "ทางรัฐ“ นี้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเป็นมาของแอปพลิเคชั่น ”ทางรัฐ“ นั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่อเป็นระบบกลางของประเทศที่รวบรวมงานบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ตามมาตรา 10 (5) พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ที่ให้ สพร. ทำหน้าที่ “สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดบริการแบบเบ็ดเสร็จตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน” และตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 ยุทธศาสตร์ที่ 1 แผนงานที่ 1 โครงการที่ 1 การพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ

สพร.ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบพอร์ทัลกลางดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 จนกระทั่งแล้วเสร็จและเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น